เรื่องนี้เกิดขึ้นในโลกอนาคต สังคมแบ่งคนออกเป็น 5 จำพวก คือ
- Abnegation เป็นกลุ่มที่ยึดมั่นในเรื่องการเสียสละตน
- Erudite ยึดถือความรู้และสติปัญญา
- Amity ยึดถือความสมานฉันท์
- Candor ยึดมั่นการพูดความจริง
- Dauntless ยึดมั่นความกล้าหาญไม่ครั่นคร้าม
แต่ละกลุ่มจะแบ่งแยกกันรับผิดชอบหน้าที่ในสังคม และแยกตัวออกห่างไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกันข้ามกลุ่ม คนในกลุ่มจะอยู่ด้วยกันเป็นคอมมูน ตอนแรกเด็กแต่ละคนจะอยู่กับครอบครัวของตนเอง แต่เมื่ออายุครบ 16 จะต้องเข้ารับการทดสอบวัดลักษณะนิสัยว่าตรงกับพวกใด แล้วก็จะมีการจัดพิธีเลือกกลุ่มโดยให้เจ้าตัวเลือกเองได้ว่าจะไปอยู่กับกลุ่มไหน ถ้าเลือกไม่เหมือนพ่อแม่ก็จะไปอยู่กับกลุ่มที่เลือกแล้วตัดขาดจากครอบครัวไปโดยปริยาย
บีเอทริซเป็นเด็กสาวจากกลุ่ม Abnegation แต่เธอรู้สึกมาตลอดว่าเธอไม่ใช่คนดีผู้เสียสละที่จะไม่นึกถึงตัวเองเลย ใช้ชีวิตด้วยความกดดันอยู่ลึกๆ เพราะต้องอดทนอดกลั้นมาตลอด แต่เมื่อบีเอทริซเข้าซิมูเลชั่นทดสอบบุคลิกภาพ ผลปรากฏว่า เธอเป็นคนที่มีความโน้มเอียงเท่าเทียมกันถึง 3 กลุ่ม เป็นคนที่จัดเข้าพวกไม่ได้ หรือเรียกว่าพวก Divergent นั่นเอง และนี่เป็นความลับยิ่งยวดที่ต้องปกปิด เพราะพวก Divergent ถือเป็นตัวอันตรายต่อสังคมรูปแบบนี้ แล้วสุดท้ายเธอจะตัดสินใจเลือกไปอยู่กลุ่มใด แล้วผลการเลือกนั้นจะส่งปฏิกิริยาลูกโซ่ไปสู่อะไรบ้าง
ความรู้สึกหลังอ่านจบเล่มนี้ก็คือเหมือนจะดีแต่ยังไม่โดน ข้อดีที่เห็นคือมีสไตล์การเขียนค่อนข้างดี อ่านลื่น มีไอเดียที่เหมือนจะน่าสนใจหลายอย่าง แต่จะว่าสนุกมั้ย มันก็พูดยาก ความสนุกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเรา สนุกก็คือว่าอยากติดตามเนื้อเรื่อง อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และอ่านแล้วไม่อยากวาง เล่มนี้มันไม่ถึงขนาดนั้น ช่วงต้นเรื่องก็ยังพอน่าสนใจ แต่ช่วงกลางๆ เรื่องนี่ชีวิตประจำวันมาก วันๆ นางเอกก็ไปฝึกต่อสู้ ไม่ค่อยมีอะไร จนท้ายๆ เรื่องค่อยเกิดฉากแอกชั่นใหญ่ที่จะนำไปสู่เล่มถัดไป
ความจริงเรื่องนี้เขียนได้โอเคมากๆ ฉากแอกชั่นและตัวละครก็พอไปไหว แต่ที่ขัดๆ ในใจเราก็คงเป็นเพราะสังคมแบบในเรื่องมั้ง เราไม่ได้ขัดแย้งว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ แต่ปรกติดิสโทเปียเรื่องอื่นมักจะเห็นที่มาของแนวคิดได้ชัดเจนว่าจะประชดเสียดสีวิจารณ์หรือตักเตือนสังคมเรื่องอะไร แต่เล่มนี้แบ่งคนตามนิสัยเนี่ยนะ เพื่ออะไร เราคิดว่าเหตุผลที่บอกในเรื่องยังไม่ค่อยหนักแน่นสมเหตุสมผล
ในสังคมเรามีการแบ่งคนเป็นพวกๆ ตามนิสัยอยู่แล้วถมเถ เช่น แบ่งตามจักรราศี 12 ราศี ตามกรุ๊ปเลือด 4 กรุ๊ป คน Type-A, Type-B หรือตามจริต ก็ได้ 6 จริต (จากหนังสือจริต ๖ พิมพ์ครั้งที่ 28) หรือฮอกวอตส์แบ่งนักเรียน 4 บ้าน คือมันก็อาจใช้ประโยชน์ได้ตอนคบคน คัดคนเข้าเรียนหรือจัดคนเข้ากับงาน แต่การจับคนทั้งเมืองเป็นพวกแยกตามนิสัยเพื่อป้องกันความขัดแย้งเพื่อจะได้ไม่เกิดสงคราม ฟังไม่เข้าท่าแม้แต่น้อย ในสังคมรวมเอาคนนิสัยเหมือนกันมากๆ มาอยู่ด้วยกันจะยิ่งเละเทะน่ะสิไม่ว่า ในกลุ่มเดียวกันถ้าเฉื่อยกันหมดก็ไม่พัฒนา ถ้าห้าวกันหมดก็คงตีกันตาย แถมการแบ่งเป็นก๊กๆ แบบนี้รับรองรบกันชัวร์
เพราะรู้สึกว่าไอเดียในเรื่องนี้ยังผ่านกระบวนการตกผลึกทางความคิดมาไม่มากพอ สงสัยขนาดว่าอ่านจบแล้วต้องไปเช็คเว็บเลย อ๋อ แล้วก็เข้าใจ คนแต่งคิดเรื่องนี้ขึ้นได้ตอนเป็นเด็กมหาวิทยาลัยปี 1 มิน่าล่ะ ยังไม่พ้นระบบโรงเรียนหรือระบบคัดคนเข้าคณะ เลยคิดอะไรที่มันไม่ได้สะท้อนสังคมผู้ใหญ่จริงๆ แต่พอรู้ว่าคนเขียนเพิ่งเรียนจบเพิ่งทำงาน ก็ทำให้นึกชมขึ้นมาเหมือนกันว่า อ่านดูไม่รู้ว่านี่เป็นงานเขียนนิยายเล่มแรก เพราะภาษาเขาเป็นธรรมชาติดี
แต่ก็อีกแหละ พอคนแต่งอายุยังไม่มาก ตัวละครที่ปั้นขึ้นมาก็เลยดูยังไม่ค่อยมีจิตวิญญาณเท่าไหร่ เราไม่ค่อยชอบฉากที่นางเอกเห็นแม่ถูกฆ่าต่อหน้าต่อตา ช็อคไปแป๊บหนึ่งแล้วก็ลุกขึ้นวิ่งต่อโดยบอกตัวเองว่า I am brave อืมม์ มันน่าจะเขียนได้อารมณ์กว่านั้นนะ แล้วเรารู้สึกว่าเนื้อเรื่องช่วงท้ายๆ ดูจงใจและไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แม่มาช่วยพาลูกหนี แต่แม่ตายเอง มาเพื่อส่งบทให้นางเอกเท่านั้นเองเหรอ
เหมือนจะติเยอะ แต่จริงๆ เรื่องนี้ใช้ได้นะ สนุกพอๆ กับเรื่องชุด Uglies ตอนอ่านเรื่องนี้เรานึกถึงเรื่องนั้น อารมณ์ตอนอ่านเหมือนกันเลย เนื้อเรื่องใช้ได้ จินตนาการไซไฟ/แอกชั่นดี แต่ตัวละครไม่ดึงดูด
1 ความคิดเห็น:
สวัสดีค่ะคุณ Nas แวะเข้ามาอ่านรีวิวหลังจากนิเพิ่งอ่านเล่มนี้จบเหมือนกัน พยายามหาที่ๆเค้าถกกันเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ แต่นิอาจจะเข้ามาช้าไป ฮ่าๆ คือ ตอนนี้เท่าที่เห็น จะแบ่งคนเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คนที่เป็นแฟนหนังสือชุด Divergent กับ คนที่รู้สึกเฉยๆกับเรื่องนี้หลังจากอ่านจบ
นิรู้สึกเหมือนคุณ Nas เลยค่ะ อ่านจบเล่มแรก ได้ข้อสรุปว่า "เหมือนจะดี"
แนวคิดการแบ่งคนเป็น 5 กลุ่ม เราอ่านไปก็ไม่เก็ทเหมือนกันว่าจะมีไปเพื่ออะไรค่ะ (แต่คิดว่าถ้าอ่านจบ trilogy มันจะ make sense ขึ้นกว่านี้หรือเปล่านะ) คือเหมือนจะให้มีเพื่อให้รู้สึกว่ามีอะไรละมั้ง?
ตอนอ่านไป ก็จะมีเสียงความคิดตัวเองย้อนแย้งตลอดว่า เอ๊ะ ทำไมถึงเป็นงั้นนะ ทำไมทำแบบนี้ มันก็แอบหงุดหงิดไม่เบาค่ะ เพราะนิรู้สึกว่านิยายที่อ่านแล้วสนุก(สำหรับตัวเอง) จะทำให้เราเพลินไปกับเนื้อเรื่อง อินไปกับตัวอักษร แต่อ่านเรื่องนี้แล้ว มันรู้สึกยั้งๆ อยากจะสนุกแต่มันมีอะไรห้ามตลอด
มันเหมือนชวนให้คิดว่าเนื้อเรื่องสอดแทรกอะไรหรือเปล่า หรือมีสารอะไรอย่างอื่นให้เราค้นหาไหม แต่จนจบเล่มแรกแล้วไม่รู้สึกว่าเจออะไรให้น่าค้นหาเลย เหมือนเราเฝ้าติดตามชีวิตทริซไปเรื่อยๆ พบเห็นสิ่งที่นางเอกรู้สึกและเผชิญ (แต่ไม่ค่อยเข้าถึงจิตใจตัวละครจริงๆ ตัวละครหลายตัวทำให้รู้สึกว่าถูกวางเข้ามาในเรื่องเฉยๆ แบนราบ)
อ่านเกี่ยวกับผู้เขียนเวโรนิก้า แล้วก็พอจะเข้าใจค่ะ เค้าแต่งเรื่องนี้ตอนอายุยังน้อย และเพิ่งเรียนเกี่ยวกับบทเรียนทางจิตวิทยา มีบทเรียนที่เค้าเรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัดความกลัว เวโรนิก้ารู้สึกสนใจในเรื่องนี้มาก คิดว่ามันน่าสนใจดีถ้าตัวละครต้องบำบัดความกลัวของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วก็เติมส่วนอื่นๆต่อๆมา ถือว่าเป็นนิยายเรื่องแรกที่ทำได้ไม่เลว
เพียงแต่รู้สึกว่า แห้งแล้งความมีส่วนร่วมทางอารมณ์ไปในหลายๆตอน บางส่วนนิก็มองว่า ใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือยเกินไปด้วยซ้ำ (สังเกตว่า บุคลิกของทริซ ยังแกว่งๆ เช่น ร้องไห้กับเรื่องง่ายๆบ่อยๆจนท้ายๆเรื่อง แต่เวลาแม่ / พ่อตาย กลับนิ่ง ยังร้องไห้เผาเต่าตอนที่ตัวเองฆ่าเพื่อนได้อยู่เลยนะ คือไม่เก็ทมากๆค่ะ)
ไม่รู้สึกว่าอ่านจนวางไม่ลง แต่ก็ยังอยากรู้ว่าเล่มที่ 2 และเล่มจบจะเกิดอะไรต่อไป
(ติเยอะเหมือนกันเนาะคะ อาจจะเป็นเพราะเรื่องนี้ถูกหยิบมาเทียบชั้น THG ตลอด เวลาอ่านไปก็เลยอดเอาไปเปรียบกันไม่ได้เหมือนกันค่ะ ส่วนตัวเป็นแฟนเดนตาย THG ไปแล้ว ยังไงก็ยังรู้สึกว่า 2 เรื่องนี้เป็น YA ที่เทียบกันลำบาก เพราะนอกเหนือจากโลกดิสโทเปียแล้วอย่างอื่นก็แทบไม่คล้ายกันเลย ทั้งความลึกของเรื่อง โทนเนื้อหา)
เรื่องนี้คุณ Nas อ่านจบครบ 3 เล่มหรือยังคะ โดยรวมๆเป็นยังไงคะ น่าอ่านต่อจนจบมั้ย
แสดงความคิดเห็น