คะแนน : 8.25
นี่เป็นนิยายเล่มแรกของ Jennifer Donnelly ที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจริงเมื่อร้อยปีก่อน เป็นเรื่องราวของเด็กสาวคนหนึ่งชื่อแมตตี้ ที่ทำงานอยู่ในโรงแรม วันหนึ่งมีร่างของหญิงสาวคนหนึ่งถูกนำขึ้นจากทะเลสาบ ก่อนตายเธอผู้นั้นฝากจดหมายให้แมตตี้เอาไปเผา เมื่อแมตตี้ค่อยๆ อ่านจดหมายพวกนั้น ก็ทำให้เธอคิดถึงเรื่องราวชีวิตของตัวเองที่ผ่านมา และนำไปสู่การตัดสินใจอนาคตของตัวเธอเมื่อถึงตอนสุดท้าย นิยาย YA แนว coming-of-age เล่มนี้ได้รางวัล Carnegie Medal 2003 ด้วย ชื่อเดิมของเรื่องนี้ในฉบับ US คือ A Northern Light แต่เปลี่ยนชื่อเป็น A Gathering Light ใน UK เพราะชื่อมันซ้ำกับหนังสือ His Dark Materials #1
ไม่รู้จะพูดถึงหนังสือเล่มนี้ยังไง อ่านแล้วมันทำให้ความคิดเรากระจัดกระจาย เหมือนถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ส่งสัญญาณสมอง ไปเที่ยวรื้อค้นในบริเวณเซลล์แห่งลิ้นชักความทรงจำของเราจนวุ่นวาย เพราะตัวเอกของเรื่องเป็นนักอ่าน ตอนที่เธอนึกถึงเรื่องชีวิตกับการอ่านของเธอไป มันก็ทำให้เรานึกถึงประสบการณ์ชีวิตและการอ่านของเราไปด้วย เพราะฉะนั้นโพสต์นี้คงจะมั่วๆ น่าดู
ที่จริงเรื่องนี้น่าติดตามแต่เริ่ม แต่พออ่านไปสักพัก เราก็เริ่มอ่านเล่มนี้ช้าลงเรื่อยๆ บางทีอ่านจบไปย่อหน้าหนึ่ง ก็ต้องอ่านวนซ้ำย่อหน้านั้นอีก เพราะมันโดน จนในที่สุดก็เริ่มรู้ว่า หนังสือเล่มนี้อ่านแบบเร็วรวดเดียวจบไม่ได้แล้ว มันต้องค่อยๆ ละเลียด บางทีอ่านไปหนึ่งหน้าก็นั่งคิดอะไรไปสิบนาที จบบทก็ต้องวาง ได้สักหนึ่งในสามก็ต้องไปนอนสักคืน ให้เวลามันตกผลึก
เราเริ่มต้นอ่าน Jennifer Donnelly จากชุดกุหลาบ มันทำให้เรารู้ว่า เธอเป็นนักเขียนที่เขียนเรื่องได้สนุก แต่พอมาย้อนอ่าน A Gathering Light มันทำให้เรารู้ว่าเธอเขียนหนังสือดี เราก็ไม่ค่อยอยากดูถูกตัวเองว่า ไอ้ที่เราชอบอ่านปกตินี่มันไม่ค่อยมีคุณค่า แต่พอได้อ่านเรื่องที่มันเป็นแบบหนังสือดีจริงๆ เข้า ก็อดสำนึกตัวเองหน่อยไม่ได้ ปกติชอบอาหารขยะจั๊งค์ฟู้ดเพราะมันอร่อย แต่เล่มนี้มันเหมือนอาหารครบ 5 หมู่ อุดมด้วยแร่ธาตุวิตามินพร้อมใยอาหารยังไงไม่รู้ สนุกมั้ยมันเหมือนจะไม่สนุก แต่มันก็ไม่น่าเบื่อสักนิด และอ่านแล้วรู้สึกว่ามันดีจริงๆ
นิยายเริ่มต้นด้วยการดึงความสนใจของเราได้ตั้งแต่แรก หลังการเปิดเรื่องด้วยจดหมายจากผู้ตาย ซึ่งแมตตี้ยังหาโอกาสเอาไปเผาไม่ได้ เรื่องก็เริ่มตัดสลับเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต ก่อนหน้าที่แมตตี้จะมาทำงานสาวใช้ที่โรงแรม เธออาศัยอยู่ที่บ้านไร่ แม่เพิ่งป่วยตายไปไม่นาน พ่อกลายเป็นคนขมขื่นเจ้าอารมณ์ เธอต้องช่วยดูแลน้องๆ และรับภาระดูแลช่วยงานในบ้านมากมาย เรื่องเล่าให้เห็นภาพชีวิตชาวนาชาวไร่ฝรั่งสมัยก่อนได้ชัดเจนดีจัง แจ่มชัดเหมือนเรื่องชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ แต่มันไม่สดใสร่าเริงแบบนั้น อารมณ์เรื่องนี้มันเป็นชีวิตแบบเหนื่อยยากลำบากลำบน
อ่านแล้วนึกถึงหนังสือนอกเวลาที่ได้อ่านสมัยเด็ก อย่างพวก "สร้อยทอง" กับ "คนเผาถ่าน" นิยายที่ใช้ฉากอดีตของไทยส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องชาววัง ชาวเมือง อ่านเรื่องนี้แล้วอยากอ่านเรื่องชาวบ้านไทยสมัยก่อนมั่ง มันมีเรื่องไหนดีๆ แนะนำอีกมั่งมั้ยเนี่ย ไม่ต้องเศร้ารันทดแบบนั้นก็ได้ แล้วไม่เอาแบบคนรวยปลอมเป็นชาวบ้านแบบเรื่องกะทินะ อิอิ เราว่า ถ้าใครอ่าน "ความสุขของกะทิ" แล้วก็น่าจะไปอ่านวิจารณ์ของ คำ ผกา ในนิตยสาร "อ่าน" ด้วยนะ ตลกสนุกดี จริงๆ เราก็โอเคกับกะทิ เป็นหนังสือซีไรต์เล่มเดียวในยุคหลังที่อ่าน หลังจาก "อมตะ" ทำให้เราเลิกอ่านซีไรต์ เพราะคิดว่าได้แค่นี้เหรอ อ่านคำชมกรรมการว่าไอเดียใหม่สร้างสรรค์อย่างโน้นอย่างนี้ แต่เราว่าเราเคยอ่านนิยายฝรั่งหรือการ์ตูนพล็อตแบบนั้นมาเป็นสิบๆ ปีแล้วนะ อืมม์ ปากพาซวยมั้ยเนี่ย จริงๆ ไม่ค่อยอยากวิจารณ์หนังสือไทย กลัวเหมือนว่าเอาเท้าราน้ำ ชอบดูพรีเมียร์ลีก ไม่เชียร์พรีเมียร์ไทย ก็กรุณาเงียบไป อย่าดูถูก อะไรยังงี้ แต่บางทีก็อดไม่ได้
แล้วปกติเราอ่านหนังสือไม่ค่อยเลือกหนังสือรางวัล เลือกหนังสือขายดีมากกว่า อย่างหนังสือซีไรต์ เราก็อ่านไปได้แค่ครึ่งเองมั้ง เพราะเท่าที่ผ่านมา มีหนังสือซีไรต์แค่เรื่องเดียวที่เรารู้สึกว่ามันมี impact กับชีวิตเรา คือ "คำพิพากษา" แบบอ่านจบแล้วเกลียดโลกเกลียดสังคมไปสิบวัน จนตอนนี้เวลาจะชี้นิ้วประณามใครบางทียังต้องมียั้ง หวังว่าเราไม่เป็นแบบพวกชาวบ้านในเรื่อง
กลับเข้าฝั่งดีกว่า แมตตี้เป็นเด็กสาวที่รักการอ่าน มันทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับเธอตั้งแต่แรกเลย ทุกวันเธอจะเปิดดิกชันนารี แล้วก็เล่นเกม Word of the Day ความรักในถ้อยคำของแมตตี้นี่มันแสดงออกชัดผ่านตัวหนังสือในเรื่อง มีย่อหน้าหนึ่งที่แมตตี้บรรยายชีวิตกับงานในบ้านในไร่อันน่าเบื่อของเธอ ด้วยคำกริยายาวเหยียดแบบไม่ซ้ำ 20-30 คำ อ่านแล้วขำเลย สมเป็นคนที่บอกว่ามีงานอดิเรกสะสมคำจริงๆ ในเรื่อง คุณครูบอกว่า แมตตี้มีพรสวรรค์ในการเขียนและการใช้คำ เราว่า Jennifer Donnelly รับคำชมนั้นแทนแมตตี้ได้เลย
แมตตี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียน เราก็เคยอยากเป็นนักเขียนนะ ตอน ม.1 เคยแอบนั่งแต่งเรื่องในชั่วโมงเรียน ทั้งชั่วโมงได้ 3 บรรทัด ยังไม่ได้ย่อหน้าแรกเลย เลยรู้ตัว หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นนักเขียนนิยายอีกเลยในชีวิต จบกันความฝันแสนสั้นหนึ่งวันของเรา ฮ่าฮ่า เพราะฉะนั้นอย่างน้อยเรานับถือคนที่เขียนจนมันออกมาเป็นเล่มได้นะ เวลาให้คะแนนหนังสือ อย่างต่ำก็เริ่มที่ 5 ค่าที่เขียนออกมาจบ
เทคนิคการเขียน/การเล่าเรื่องของนิยายเล่มนี้เทพมาก เนื้อเรื่องเล่มนี้ ดำเนินเรื่องสลับกันระหว่างเหตุการณ์ปัจจุบันที่แมตตี้อยู่ในโรงแรม กับเรื่องชีวิตก่อนหน้าของแมตตี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีตห่างไกลอะไร เป็นช่วงเวลาก่อนหน้าสัก 4 เดือนเท่านั้น เวลาที่ตัดสลับไปมาในแต่ละบท จะถูกแบ่งแยกด้วยคำ ไม่ใช่เลขไม่ใช่เวลา/วันที่ ถ้าเป็นเหตุการณ์ช่วงที่แมตตี้ยังอยู่ที่บ้าน บทนั้นจะถูกขึ้นต้นบทด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็น Word of the Day ของเธอ แล้วคำศัพท์นั้นก็จะสะท้อนเนื้อเรื่องบทนั้นไปด้วย เป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่สร้างสรรค์ และซ่อนความหมาย แบบไม่น่าเชื่อเลย เล่นคำนิดเดียวเอง สุดยอด
แล้วการเล่าเรื่องแมตตี้ในช่วงเวลาต่างกันไปพร้อมกัน ทำให้เรื่องน่าติดตามได้ ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องจริงๆ ของเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย แค่ชีวิตธรรมดาของเด็กสาวคนหนึ่ง ที่มาถึงทางแยกของชีวิตว่า อยากใช้ชีวิตตามความฝัน ไปเรียนต่อวิทยาลัย แต่ก็มีความเสี่ยงกับชีวิตไม่แน่ไม่นอน ในยุคที่บทบาทของผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับ หรือจะยอมรับภาระหน้าที่ กับชีวิตที่เป็นอยู่ และแต่งงานกับชายหนุ่มเพื่อนบ้านไป ทางเลือกนี้ถูกนำเสนออย่างสมจริงมาก ชีวิตมันไม่ง่ายเลย การดำเนินเรื่องไปเนิบๆ เรียบๆ ไม่มีอะไรหวือหวา เวลาเจอปัญหาในเรื่อง ก็ไม่มีฟูมฟายดราม่า แต่ด้วยน้ำเสียงสงบเงียบๆ ของเรื่อง เหมือนทำให้เรื่องละเอียดละเมียดลึกซึ้ง แทรกเข้ามาในอณูใจได้เลย
เรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าค่อยๆ ถูกปล่อยออกมา แทรกด้วยช่วงปัจจุบันกับการแอบอ่านจดหมายผู้ตายเป็นระยะ แล้วเส้นเวลาในเรื่องก็จะค่อยๆ มาบรรจบกัน เรื่องราวในจดหมายก็ไม่ได้ซับซ้อนพิสดารอะไรเลย ตอนอ่านรู้สึกธรรมดา แต่ตอนจบ หมายเหตุผู้แต่ง เธอบอกว่าเป็นจดหมายจริง ที่เธออ่านแล้วประทับใจสะเทือนใจกับมันมาก จนเป็นที่มาของนิยาย พอนึกย้อนก็ค่อยรู้สึกว่า เออ มันเป็นจดหมายที่สะท้อนความรู้สึกผู้หญิงในสถานการณ์นั้นออกมาชัดดี
เราว่าคนที่อ่านนิยายเรื่องนี้แต่ละคน คงจะได้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน มันเป็นนิยายชีวิตแบบที่ผู้อ่านรับรู้เนื้อหาได้ไม่เหมือนกัน แปรผันตามประสบการณ์ชีวิตของคนนั้นเอง ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นอ่าน ก็คงได้มุมมองอีกแบบ พอเป็นผู้ใหญ่มาอ่านก็คงอีกแบบ แล้วแบบเราอ่าน ก็พาฟุ้งซ่านไปเลย ที่เขียนมานี่ยังไม่ได้ 1/10 ของความคิดที่ผ่านสมองเราตอนอ่านเรื่องนี้เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น