คะแนน : 8.5
เมื่องานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมาเดือนตุลา เห็นมีงานแปลของ ว.วินิจฉัยกุล พิมพ์ใหม่ออกมาหลายเล่ม ดูชื่อคุ้นๆ ว่าน่าจะเคยอ่านแล้วทุกเรื่อง เพราะตั้งแต่ ป.6 ที่ชอบ "แต่ปางก่อน" หลังจากนั้นเราก็ไล่อ่าน ว.วินิจฉัยกุล/แก้วเก้า/วัสสิกา ไปตั้งเยอะ แก่แดดค่ะ อ่านนิยายรักตั้งแต่เด็ก ในบรรดาเรื่องทั้งหมดที่เห็น ไม่มีเล่มไหนที่เราติดใจเป็นพิเศษ แต่แล้วโดยไม่คิดล่วงหน้ามาก่อน เราก็หลุดคำถามกับที่บูธไปว่า แล้ว "วัยเล่นไฟ" ไม่มีเหรอคะ จนถึงตอนนั้นนั่นล่ะ ที่เราเพิ่งรู้ตัวว่า ในบรรดาเรื่องแปลของ ว.วินิจฉัยกุล ทั้งหมด เราประทับใจเรื่องนั้นที่สุด และมันกระตุ้นให้เราอยากอ่านอีก พอหาภาษาไทยไม่ได้ ก็ต้อง Amazon หนังสือภาษาไทยมันหายากกว่าอังกฤษอย่างนี้แหละ กลายเป็นอ่านต้นฉบับดีกว่า หาซื้อง่ายกว่าแค่ไม่กี่คลิก ถูกกว่าด้วย อ้อ แต่เล่มนี้ถ้าภาษาไทยมีพิมพ์ใหม่ ก็จะซื้อนะ
จริงๆ หนังสือมาส่งนานแล้วเพิ่งเอามาอ่าน เพราะบางทีเราจะรู้สึกผิดว่ามีเรื่องใหม่รอให้อ่านเยอะ ทำไมไปอ่านแต่เรื่องที่เคยอ่านแล้ว เหมือนโกงโอกาสตัวเอง แต่เอาน่า อ่านเรื่องที่เรารู้แน่ว่าชอบ มันก็เป็นช่วงเวลาคุณภาพที่ให้กับตัวเองเหมือนกัน
วัยเล่นไฟ แปลมาจากเรื่อง Mr. and Mrs. Bo Jo Jones เป็นเรื่องของจูไล อายุ 16 ที่เป็นแฟนกับ โบโจ อายุ 17 ทั้งคู่เป็นเด็กนักเรียนไฮสกูลที่ดูมีอนาคตสดใส แต่คืนหนึ่งหลังงานปาร์ตี้ ด้วยอารมณ์และบรรยากาศที่พาไป ก็เป็นเหตุให้ชีวิตของทั้งคู่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล จูไลท้องก็เลยจำเป็นต้องแต่งงานกับโบโจ ต้องเลิกเรียนกลางคัน มาใช้ชีวิตคู่สามีภรรยาวัยรุ่น ที่ยังไม่รู้จะรับมือกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและแผนอนาคตที่พลิกผันไปสิ้นเชิงยังไง
หนังสือเก่ามาก ภาษาอังกฤษพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1968 ค่านิยมของสังคมและตัวละครในเรื่องยังค่อนข้างเป็นแบบอนุรักษ์นิยมอยู่ แต่เราว่าเนื้อเรื่องไม่ล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย ปัญหาชีวิตของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ไม่ใช่ปัญหาชีวิตของแค่สองคนหรือสามคนถ้ารวมในท้อง แต่มันลามไปถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่าย วัยรุ่นที่ท้องก่อนวัยอันควรจะรู้สึกกลัวและสับสนยังไง พ่อแม่ที่ตั้งความหวังกับลูกจะรู้สึกผิดหวังเสียใจแค่ไหน ทั้งหมดในนิยายเล่มนี้ มันถูกนำเสนออย่างสมจริง และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกมาก ถึงแม้จูไลจะเป็นเด็กอเมริกัน แต่สิ่งที่เธอต้องเผชิญ เราว่าไม่ผิดกับเด็กไทยหรือวัยรุ่นที่ไหนก็ตามที่ต้องตกอยู่ในสภาพเดียวกัน หรือต่อให้คนที่ไม่เคยเจอสถานการณ์นั้นเลย ก็ยังรู้สึกเข้าถึงมากๆ ได้ ไม่รู้ว่าจูไลกับโบโจมีตัวจริงรึเปล่า แต่ชีวิตของคนที่เหมือนจูไลกับโบโจ และตัวละครทุกคนในนี้ มีอยู่จริงแน่ๆ นับไม่ถ้วน
ตอนที่อ่านครั้งแรก ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้สนุก อ่านแล้วก็คงชอบมั้ง แต่ไม่ได้ปลาบปลื้มมากมาย แล้วก็ไม่ค่อยได้คิดถึงเรื่องนี้เลย แต่ก่อนเปิดอ่านรอบนี้ เราทบทวนในใจแล้วพบว่า เราจำเนื้อเรื่องในเล่มนี้ได้หมดตั้งแต่ต้นจนจบ จำตัวละครสำคัญได้ทุกคน ชื่อจริงโบโจยังจำได้ ทั้งๆ ที่อ่านมาเกิน 20 ปีแล้ว แสดงว่า ความรู้สึกที่เรามีต่อเรื่องนี้มันคงเหมือนน้ำค่อยๆ ซึมเข้ามา ตอนอ่านครั้งแรกที่รู้สึกเฉยๆ แต่ผ่านไปโดยไม่รู้ตัว มันก็ยึดพื้นที่ซอกเล็กๆ ในความทรงจำของเราได้อย่างมั่นคง คิดดู ตอนอ่านใหม่รอบนี้ บางตอนนี่ยังอ่านไม่ถึง แต่เรารู้แล้วว่า พลิกหน้าถัดไปจะเจออะไร บางฉากเราแทบจะจำบทสนทนาตัวละครได้คำต่อคำ ทั้งที่เคยอ่านมารอบเดียว อย่างนี้สินะ ที่เขาเรียกประทับอยู่ในใจ ตราตรึงในความทรงจำ ทั้งที่ผ่านมาตั้งเนิ่นนาน หนังสือบางเล่มเราอ่านจบไปแค่เดือนที่แล้ว ยังอาจจะเอามาเล่าไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ
หนังสือไม่หนา แค่ 202 หน้าเท่านั้น บอกเล่าช่วงเวลาประมาณไม่ถึง 1 ปีในชีวิต ผ่านมุมมองของจูไล การเล่าเรื่องราว และการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของเธอ แจ่มชัดมากซะจนรู้สึกเหมือนเรารู้จักจูไลดี รวมทั้งทุกคนที่แวดล้อมตัวเธอด้วย ฉากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จูไลก็พรรณนาออกมาได้กินใจ ไม่ว่าจะเป็นตอนลูกดิ้นความรู้สึกเหมือนผีเสื้อขยับปีกในช่องท้อง ไปจนถึงตอนหัวใจสลายท้ายเรื่องก็สะเทือนอารมณ์มาก เราชอบตัวละครเรื่องนี้ จูไลกับโบโจเป็นเด็กดีทั้งคู่นะ ถึงจะพลาดไป แต่ทั้งคู่ก็มีความตั้งใจดี และเราอาจจะแอบหลงรักโบโจนิดๆ ตั้งแต่สมัยก่อนก็เป็นได้ ถึงประทับใจเรื่องนี้มาจนถึงป่านนี้ ผู้ชายที่ลงมือต่อเปลให้ลูกในท้องเอง อ้างว่าอยากประหยัดแต่ลงทุนใช้วัสดุดีๆ จนแพงกว่าซื้อหลายเท่า เรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นไปอย่างสมจริงมาก ผู้แต่งไม่ได้ทำให้ปัญหาชีวิตครั้งนี้เป็นเรื่องโรแมนติก ปัญหามีเยอะ บางเรื่องแก้ได้ บางเรื่องก็ต้องทำใจ แต่ก็อยากเอาใจช่วยทั้งคู่มากๆ สองคนก็ได้บทเรียนชีวิตไปเยอะ แต่ตอนสุดท้ายก็ยังรู้สึกดีที่ทั้งคู่รอดมาได้ด้วยดีพอควร ถูกใจคนที่ชอบอ่านเรื่องที่จบแฮปปี้ ทั้งที่รู้ว่าชีวิตจริงหลายคู่คงไม่โชคดีกันแบบนี้
ถึงเนื้อเรื่องเป็นเรื่องท้องก่อนแต่ง แต่เรื่องนี้ไม่มีฉากเลิฟซีนเลย ไอ้คืนแห่งชะตากรรมยังเล่าแบบคลุมเครือเลย แต่ตอนอ่านครั้งนี้ รู้สึกว่าจูไลกับโบโจเข้าห้องปิดประตูกันไปหลายทีเหมือนกันนะ ตอนที่อ่านแต่ก่อนเรายังอายุน้อยกว่านางเอกของเรื่องหลายปี เลยไม่รู้เรื่อง หรือว่าฉบับแปลไทยโดนตัดหมดกันแน่คะ แต่ยังไงก็อยากให้เรื่องนี้ถูกพิมพ์ใหม่จัง เผื่อเด็กไทยจะได้อ่านเรื่องที่เตือนสติ บางทีนิยายดีๆ อ่านแล้วสอนใจดีกว่า และเข้าถึงจริงกว่าให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์สอนอีก
เด็กสมัยนี้มันห้ามไม่ให้มีอะไรกันไม่ไหวแล้วมั้ง สอนให้ป้องกันไม่ให้ท้องดีกว่า แต่ถ้าดันท้องขึ้นมาอีก ก็ช่วยให้เขามีทางเลือกหน่อย ไปลงโทษเหยียดหยามประณามแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ไหนๆ พูดถึงเรื่องนี้แล้ว เลยไปพูดต่อถึงเรื่อง 2002 ศพแล้วกัน เมื่อไหร่สังคมไทยจะเลิกปากว่าตาขยิบ ยอมให้มีการทำแท้งถูกกฎหมายซะที โอเค โดยอุดมคติก็ต้องสอนให้รักนวลสงวนตัว ทางที่ดีอย่าให้มีปัญหา แต่ถ้าปัญหามันเกิดมาแล้ว ถ้าเขาไม่พร้อมจริงๆ เขาตัดสินใจเลือกจะทำอย่างนั้น มันก็สิทธิในการดำเนินชีวิตของเขานะ ด่าว่าบาปกรรม แล้วช่วยเขาเลี้ยงมั้ยล่ะ เด็กในสถานสงเคราะห์ตั้งกี่พันคนไม่มีใครรับ การทำให้ถูก กม. ไม่ใช่การส่งเสริมหรอก ใครมันจะอยากให้เกิดปัญหา แล้วถ้าคนมันจะทำยังไงก็คงหาทางทำอยู่ดี ก็ยอมให้มีทางเลือกแบบถูกต้องไม่ดีกว่าเหรอ ดีกว่าหลบๆ ซ่อนๆ ทำแล้วเป็นอันตรายกับแม่ หรือมีศพทารกมาเป็นข่าวให้น่าอเนจอนาถกับสังคมอีก เผลอๆ ยอมให้ถูกกฎหมาย ก่อนทำมีนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา ปัญหาอาจจะน้อยลงด้วยซ้ำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น