วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

The Help - Kathryn Stockett

คะแนน : 8



น่าเสียดายที่เรื่องอื่นๆ ที่ต่อเนื่องจาก Lady Gallant มีแต่คนบอกว่าไม่ดีเท่า เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมองหาเล่มอื่นมาอ่าน และมาเลือกเล่มนี้เพราะดาวของ Amazon มีผู้อ่านกว่า 80% จาก 2,122 คน ให้คะแนน 5 ดาว แก่หนังสือเล่มนี้ คือ เดี๋ยวนี้เราจะอ่านอะไร มักจะหารีวิวอ่านก่อนเสมอ ต่างจากสมัยเรียนที่อ่านดะไปเรื่อยๆ ที่มีให้อ่าน ตอนนี้เรามีหนังสือให้เลือกมากขึ้น อันที่จริง แทบจะเรียกว่า มีให้อ่านเยอะมากจนแน่ใจว่าไม่มีวันอ่านจบได้หมดในชีวิตนี้ ดังนั้นเราจึงค่อนข้างเลือกมากกับหนังสือที่จะอ่าน เพราะตอนนี้การอ่านเป็นการลงทุนทางเวลาและอารมณ์ที่มีต้นทุนสูง เดี๋ยวนี้เราไม่มีสองสิ่งนั้นเหลือเฟือพอที่จะปล่อยให้สูญเสียโดยเปล่าประโยชน์แล้ว และอีกอย่าง เราค่อนข้างชอบ หนังติดอันดับ Box Office หรือหนังสือ Bestseller เพราะรสนิยมเราก็ธรรมดานี่แหละ ถ้าคนจำนวนมากชอบ เราก็มักจะชอบด้วย อย่าง Da Vinci Code หรือ Twilight เราอ่านเพราะมันดัง แล้วมันก็สนุกจริงๆ ด้วย

The Help เป็นนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นระหว่างคนขาว-คนดำ เรื่องเกิดขึ้นที่รัฐมิสซิสซิปปี้ ในยุคปี 1960 ยุคสมัยของการตื่นตัวเรื่องสิทธิพลเมืองของชนกลุ่มน้อย โดยเล่าผ่านมุมมองของผู้หญิง 3 คน คือ สกีเตอร์ หญิงสาวผิวขาว กับ เอบีลีน และ มินนี่ หญิงผิวสี ที่ทำงานเป็นแม่บ้านให้แก่ครอบครัวผิวขาว เป็นตัวเลือกที่หยิบมาอ่านแบบแปลกใจตัวเองเล็กน้อย เพราะเราก็ไม่ใช่ว่าจะสนใจปัญหาเรื่องแบ่งแยกสีผิวนัก

ตอนเด็กๆ สมัยประถม เราเคยอ่านเรื่องฮัคเคิลเบอร์รี่ ฟินน์ ที่เป็นหนังสือเล่มเล็กของ สนพ. เม็ดทราย แต่เราจับประเด็นเรื่่องทาสไม่ได้เลย โตขึ้นมาหน่อย ตอน ม.ต้น เราเคยอ่านเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอม ก็พอจะเข้าใจเรื่องราวของการถูกกดขี่มากขึ้น แต่ก็คิดว่า สมัยนั้นเราคงห่างไกลเกินกว่าที่จะมีสำนึกรับรู้ประเด็นลึกๆ ของหนังสือได้ ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะเลิกทาสไปตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมือง แต่การแบ่งแยกสีผิวก็ยังดำเนินต่อมาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในรัฐทางใต้

เราจำได้ว่า ตอนยังผูกคอซอง เราเคยเล่าให้เพื่อนฟังว่า เคยมีกฎหมายว่าคนดำไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งรถเมล์ร่วมกับคนขาว
เพื่อนเราถามว่า ที่ไหน
เราบอกว่า ที่อเมริกา
เพื่อนเราถามกลับมาว่า ไหนว่าอเมริกาเป็นประเทศประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพทุกคนไง
เราตอบเพื่อนเราไม่ได้แฮะ ตอนนั้นยังรู้น้อย และเราก็พลอยสับสนไปด้วยว่า ข่าวหรือบทความที่เราเห็น นั่นคืออเมริกาหรือแอฟริกาใต้กันแน่
ก็เลยตอบแบบงงๆ ไปว่า คงเป็นที่อเมริกาใต้มั้ง

ตอนนี้ถึงโตแล้ว ก็ใช่ว่าจะทำให้เราเข้าใจเรื่องการแบ่งแยกสีผิวได้ลึกซึ้งอะไร แต่ในระหว่างการอ่านครึ่งแรกของหนังสือ เป็นเวลาที่เราอ่านได้ช้ากว่าที่คิด ไม่ใช่เพราะมันอ่านยากหรือน่าเบื่อ แต่เป็นเพราะเราต้องหยุดคิดเป็นระยะๆ ถึงความอยุติธรรมในสังคม และเราสาบานว่า เราอดที่จะเปรียบเทียบมันกับเมืองไทยสมัยนี้ไม่ได้ ประเทศไทยอาจจะซ่อนการแบ่งชนชั้นได้แนบเนียนกว่า เพราะสีผิวไม่เห็นชัด แต่เชื่อเถอะ วาทกรรมของหลายๆ คนที่เราได้ยินมาในช่วงปีที่ผ่านมานี้ มันเหมือนสิ่งที่ฮิลลี่หรือเอลิซาเบธพูดและทำนั่นแหละ แต่แทนที่จะแบ่งด้วยสีผิว สังคมไทยแบ่งกันด้วยความเป็นคนกรุงกับคนต่างจังหวัด เมื่อวานเราไปซื้อหนังสือที่สยามพารากอนที่เพิ่งกลับมาเปิดหลังเหตุการณ์ชุมนุม ได้ยินบทสนทนาบางคำ นี่มันฮิลลี่ชัดๆ ฟังแล้วเกือบจะละอายใจที่ตัวเราเองก็เป็นคนกรุง เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ เลย ส่วนคนไทยหลายคนถ้าได้อ่านเรื่องนี้ก็คงเป็นเหมือนเอลิซาเบธ ที่อ่านหนังสือแล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ในนั้นพูดเรื่องของตัวเธอเอง ถ้าคนรอบตัวเราที่ทำงานได้ยินเราเปรียบเทียบอย่างนี้ คงจะเถียงคอเป็นเอ็นว่า เราบ้า เครียด คิดมาก เมืองไทยมีอะไรอย่างนั้นซะที่ไหนล่ะ ชีวิตจริงเราระบายไม่ได้ ก็พูดมันในบล็อกส่วนตัวนี่แหละ เข้าใจอารมณ์สกีเตอร์มากๆ ที่จะคิดจะพูดจะทำอะไร ก็ต้องระวังตัวเพราะขัดกับความเชื่อของคนรอบข้าง

ฟังดูหนังสือเล่มนี้เครียดมากๆ เลยใช่มั้ย แต่ที่จริงเปล่าเลยนะ หนังสือเล่าเรื่องราวในชีวิตของผู้หญิงสามคน สลับมุมมองไปมา เอบีลีนเป็นแม่บ้านผิวสีวัยห้าสิบกว่าที่เลี้ยงดูลูกๆ ให้คนขาวมาแล้วถึง 17 คน เธอเพิ่งเสียลูกชายคนเดียวไปจากอุบัติเหตุในการทำงาน มินนี่วัยสามสิบกว่า เป็นแม่บ้านปากกล้า จึงมักจะมีเรื่องกับนายจ้างเสมอ เธอต้องเลี้ยงลูก 5 คน และต้องทนกับสามีขี้เมา กับสกีเตอร์ หญิงสาวที่เพิ่งเรียนจบจากวิทยาลัย ยังไม่แต่งงานมีครอบครัวเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น และเธอยังฝังใจอยากติดตามหาอดีตแม่บ้านผิวสี ที่รักและเลี้ยงดูเธอมาตั้งแต่เด็ก ที่หายเงียบไปจากชีวิตเธอเฉยๆ ช่วงที่เธอไปเรียนกำลังจะจบ สกีเตอร์อยากเป็นนักเขียน และนั่นเป็นสิ่งที่ชักนำให้เธอเข้ามาร่วมมือกับเอบีลีนและมินนี่ เพื่อเขียนหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแม่บ้านผิวสี ที่รับใช้นายจ้างผิวขาว ซึ่งไม่ได้มีแต่ด้านลบ แต่ก็มีด้านบวก ด้านที่งดงามของความรักเมตตาและมิตรภาพระหว่างกัน อย่างที่ในหนังสือบอก ประเด็นของหนังสือคือ ฉันก็คน เธอก็คน เราต่างก็เป็นผู้หญิง เป็นคนเหมือนกัน ทำไมไม่ทำตัวดีต่อกันล่ะ

หนังสืออ่านสนุก ดึงดูดให้คุณเข้าไปรู้จักตัวละครและชีวิตรอบตัวในสังคมอเมริกันยุคนั้นได้ดีมาก ช่วงแรกอาจจะกดดันหน่อยเพราะมีเรื่องน่าหดหู่คับแค้นใจเยอะ แต่ถ้าคุณไม่คิดมากก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย อ่านเอาสนุกเฉยๆ ก็ได้ โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเรื่องไป เป็นช่วงลุ้นในการแอบเขียนหนังสือ เรื่องสนุกมากค่ะ วางไม่ลงเลย เมื่อคืนอ่านเลยเถิดจนถึงตีสองเพื่ออ่านให้จบให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อดำเนินเรื่องถึงตอนหนังสือออกขายได้แล้ว ตอนกลัวถูกจับได้ว่าเป็นเรื่องของใครเขียน ลุ้นมากค่ะ ว่าจะเอาตัวรอดกันยังไง เป็นหนังสือที่คุ้มค่าในการอ่านมาก สุดท้ายที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้ คือ ต่อไปเมื่อเราได้ยินได้เห็นคำว่า พายช็อกโกแลต เราคงต้องนึกถึงนิยายเรื่องนี้แน่ๆ !! หึหึ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น