เราไม่ได้อยากอ่านนิยายเล่มนี้เพราะตัวหนังสือเองหรอก แต่อยากรู้ว่ามันเป็นยังไงก่อนที่หนังจะฉายปลายปีนี้ ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่บนปกหลังก็โปรยไว้ว่าเป็นหนังสือฟีลกู๊ด เลยเลือกมาเป็นเล่มแรกของปี
แพต พีเพิลส์ ชายหนุ่มอายุ 35 ถูกปล่อยตัวจากสถาบันประสาทกลับมาอยู่กับพ่อแม่ แพตจดจำเหตุการณ์ช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ไม่ได้เลย เมื่อกลับมาอยู่บ้าน เขาก็พยายามปรับปรุงตัว ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ เชียร์ฟุตบอล ไปพบจิตแพทย์ทุกสัปดาห์ เพื่อเป้าหมายจะกลับไปคืนดีกับภรรยา แล้วก็ได้เจอหญิงสาวเพื่อนบ้านคนหนึ่ง ที่ผ่านปัญหาชีวิตขนาดหนักมาเช่นกัน จะเป็นยังไงถ้าแพตรู้ว่า ผู้หญิงที่ฝันถึงไม่ใช่คนที่จะอยู่กับเขาในชีวิตจริง
ตอนเราอ่านสรุปย่อเรื่องนี้ใน IMDb นี่ก็ขัดใจนะ สองบรรทัดแค่นี้เหรอ แล้วจะรู้มั้ยว่ามันน่าดูรึเปล่า แนวไหนก็ไม่รู้ แต่พออ่านจบแล้วเราก็เข้าใจ เรื่องนี้มันย่อเรื่องยากจริง เต็มที่ได้ 4 บรรทัดนี้ล่ะ นอกนั้นมันก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเรื่อง พูดมากกว่านี้ก็อาจสปอยล์ถึงตอนจบ แต่ความจริงถึงรู้เนื้อเรื่องทั้งหมดก็อาจจะไม่เป็นไร เพราะบางครั้งเนื้อเรื่องของนิยายก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับวิธีการเล่าเรื่อง
เรื่องเล่าจากมุมมองของพระเอก แพตมีอาการทางประสาท แต่เขาไม่ได้บ้านะ คุยรู้เรื่องทุกอย่าง แต่ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวอาละวาด หลอนๆ เพี้ยนๆ บ้างบางครั้ง ที่สำคัญคือปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงเรื่องภรรยา เขาคิดว่า ชีวิตของเขาเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง ที่มีพระเจ้าเป็นผู้กำกับ เรื่องของเขาอาจเป็นหนังแนว Romantic Comedy และไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรก็ตาม จะต้องมีตอนจบ Happy Ending ที่เขาจะได้ภรรยากลับมา
นั่นเป็นมุมมองของแพต แต่ในมุมมองคนอ่าน นี่ไม่ใช่เรื่องตลกโรแมนติกแน่ๆ ไม่มีฉากไหนที่เราหัวเราะเลย ส่วนมากจะเป็นแค่ยิ้มมุมปาก อ่านจบแล้วก็ไม่รู้จะบอกว่าตัวเองรู้สึกยังไง ไม่ตลก ไม่เครียด ไม่เบื่อ แล้วฟีลกู๊ดจริงมั้ย ก็งั้นมั้ง เรื่องฟีลกู๊ดนี่มันคือยังไงล่ะ เราก็ยังงงๆ อยู่ เห็นแต่ละเรื่องที่เขาแนะนำกัน หัวเราะทั้งน้ำตา เศร้าแต่มีหวัง อะไรก็ได้ที่ทำให้รู้สึกชีวิตยังมีค่า แบบนั้นเหรอ
ฟังดูเหมือนเรากำลังพล่ามอะไรไม่รู้นะนี่ พระเอกในหนังสือก็ร่ายไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละ ในเมื่อเราสรุปความคิดตัวเองจากนิยายเล่มนี้ไม่ได้ ก็ขอยก quote ที่เราชอบจากในหนังสือมาใส่แทนแล้วกัน ชอบประโยคสำคัญที่พระเอกพร่ำพูดอยู่บ่อยๆ ตลอดเรื่อง "I try to be kind, not to be right."
และชอบฉากนี้
แพตอ่านหนังสือตามรายการที่ภรรยาที่เป็นครูสอนวรรณคดีใส่ไว้ในรายวิชา พอเจอเรื่องที่จบเศร้าตัวเอกฆ่าตัวตาย เขาก็ไประบายให้จิตแพทย์ฟังว่า ทำไมต้องบังคับให้เด็กวัยรุ่นอ่านเรื่องรันทดหดหู่ขนาดนี้ ชีวิตมันต้องมีหวังสิ มีประกายแสงสีเงินบนก้อนเมฆ เราควรจะสอนพวกวัยรุ่นว่า -- จิตแพทย์ขัดเขาว่า
"ชีวิตคนเป็นเรื่องยากนะ แพต และเด็กๆ ควรจะได้รู้ว่า ชีวิตคนนั้นยากเย็นแสนเข็ญได้ขนาดไหน"
"ทำไมล่ะ"
"เพื่อพวกเขาจะได้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พวกเขาจะได้เข้าใจว่า หลายคนลำบากกว่าพวกเขา และในการเดินทางผ่านโลกนี้ของแต่ละคนก็เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างไพศาล ขึ้นอยู่กับว่าสารเคมีตัวไหนที่พล่านผ่านจิตใจของแต่ละคน"
การอ่านเรื่องราวของแพต (พ่วงเรื่องของทิฟฟานีนิดหน่อย) ก็เหมือนการได้รับรู้ประสบการณ์ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง เรื่องพวกเขาไม่ใช่พวกเรา ความคิดพวกเราไม่เหมือนพวกเขา แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่า มีคนที่คิดแบบนี้อยู่บนโลกน่ะนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น