วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

Troy Trilogy - David Gemmell

คะแนน : 8



เจอหนังสือที่อ่านจบด้วยความรู้สึก mix feeling อีกแล้ว เราหยิบหนังสือชุดนี้มาอ่านเพราะเราชอบเรื่องเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอย เราคาดหวังว่า จะได้อ่านเรื่องราวตามตำนานที่มีรายละเอียดลึกขึ้น แต่เราไม่คาดว่า เนื้อเรื่องจะแตกต่างจากเรื่องราวในมหากาพย์ที่เราคุ้นเคยขนาดนี้ มีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง บางอย่างเราคิดว่าดี แต่บางอย่างเราก็ทำใจรับไม่ได้เลย

พูดถึงจุดที่เราชอบก่อนแล้วกัน หนังสือชุดนี้ดึงเราเข้าสู่โลกของกรีกและทรอยยุคโบราณได้ดีมาก ตั้งแต่เริ่มต้นเล่มแรก คือ Lord of the Silver Bow อ่านแล้วเห็นภาพสมัยโบราณชัดเจนดีเยี่ยม การเดินทางบนเรือ ผ่านทะเล ผ่านเกาะแก่งต่างๆ นครโบราณ วิถีชีวิตผู้คน สังคม วัฒนธรรม ความนึกคิด ความเชื่อ การนับถือเทพเจ้า ตามมหากาพย์ของโฮเมอร์นั้น มีเหล่าเทพเจ้าเข้ามาปรากฏตัวเต็มไปหมด โชคลาง อภินิหาร การบูชายัญ แต่ใน Troy Trilogy จะตัดเรื่องเทพเจ้าและอภินิหารเกือบทั้งหมด แล้วอธิบายสิ่งที่สมจริงและน่าจะเป็นที่มาที่สมเหตุสมผลของตำนานอันยิ่งใหญ่แทน

การเปลี่ยนแปลงที่เกือบจะเรียกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือจากตำนานต้นกำเนิดอยู่ที่บทบาทของตัวละคร ใน Troy เวอร์ชั่นนี้ เฮเลนเป็นเพียงตัวละครประกอบ เธอไม่สวย ไม่ได้มีความงามเลื่องลือ การแย่งตัวเธอเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าเพื่อก่อสงคราม ที่มีสาเหตุแท้จริงเกิดจากความมักใหญ่ใฝ่สูงและการแก่งแย่งหาผลประโยชน์ของเหล่ากษัตริย์ต่างหาก อกาเมมนอน ผู้นำฝ่ายกรีกได้รับแจกบทตัวร้ายของเรื่องเต็มตัว ชั่วร้ายเลวทรามไม่มีที่เปรียบ เพรียม ราชากรุงทรอยกลายเป็นไอ้แก่โสโครกไร้ศีลธรรม อะคิลลีส แม่ทัพกรีก ซึ่งตามปรกติจะเป็นตัวเอกของเรื่อง ก็ถูกลดบทบาทลงไปเป็นตัวละครรองธรรมดา มีเพียงโอดิสซีอุส ที่เราคิดว่า ถ่ายทอดบทบาทมาจากต้นฉบับได้ดีที่สุด

เตือนสปอยล์

ตัวละครเอกฝ่ายชาย Troy เวอร์ชั่นนี้ คือ เฮลิคาออน หรือเจ้าชายอีเนียส ซึ่งเป็นเพียงตัวละครที่ไม่สำคัญนักใน Iliad ของโฮเมอร์ แต่เป็นตัวเอกใน Aeneid ของเวอร์จิล และฝ่ายหญิง ผู้แต่ง David Gemmell หยิบ แอนโดรมาคี ซึ่งแทบจะไม่มีบทบาทใดในเรื่องของโฮเมอร์มาเป็นนางเอก ซึ่งนั่นนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเรา เพราะแอนโดรมาคีนั้นในบทดั้งเดิม นางเป็นภรรยาของเฮกเตอร์ เจ้าชายแม่ทัพเอกฝ่ายทรอย ซึ่งเป็นตัวละครที่เราชอบที่สุดในตำนานเรื่องทรอย เพราะฉะนั้น เมื่อ Troy เวอร์ชั่นนี้เลือกตัวละครสองคนนี้มาคู่กัน พระเอกนางเอกก็ต้องอยู่ในฐานะชู้ จึงเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้เลย ภาพของเฮกเตอร์ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่สมบูรณ์แบบที่สุดในความคิดเรา (โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงบทเฮกเตอร์ของ Eric Bana ในหนังเรื่อง Troy) ถูกทำลายย่อยยับใน Troy เวอร์ชั่นนี้ เฮกเตอร์กลายเป็นผู้ชายที่น่าสมเพช เสียความเป็นชาย ถูกเมียสวมเขา ต้องเลี้ยงลูกชู้ ด้วยความหวานอมขมกลืน ช่างน่าอนาถอะไรอย่างนี้

เรารู้สึกว่า ถ้านางเอกของเรื่องเป็นคนอื่นไปซะ ตัวละครใหม่ก็ได้ แล้วมาดำเนินเรื่องแทน โดยมีบุคลิกลักษณะนิสัยอย่างแอนโดรมาคีในเรื่องนี้ เราคงจะชอบหนังสือชุดนี้กว่านี้มาก บทบาทนางเอกในเรื่องนี้มีส่วนสำคัญกับการดำเนินเรื่องมาก จากเล่มหนึ่งที่เปิดตัวเจ้าหญิงที่ถูกส่งตัวไปแต่งงานการเมือง เล่มสองใน Shield of Thunder เธอมีพัฒนาการทางตัวละครที่ดี อย่างการให้ยาพิษ และการตัดสินใจของเธอที่ทำเพื่อปกป้องลูก เราก็ยังชอบเธอ แต่พอเล่มสาม Fall of Kings นี่เรารู้สึกว่า บทของเธอลงเหวเลย ทำไมเลว และเห็นแก่ตัวอย่างนี้ โดยเฉพาะตอนหลังจากเฮกเตอร์หลุดถ้อยคำเรื่องลูกขึ้นมา แล้วเธอมานึกว่า เฮกเตอร์รับข้อเสียของพ่อมา เรารู้สึกเกลียดผู้หญิงคนนี้จับใจ แทนที่จะนึกว่าเป็นความผิดของตัวเอง กลับไปโทษคนที่ตัวเองทำผิดต่อเขาอีก และโดยเฉพาะตอนที่เธอมองเฮกเตอร์ แล้วรู้ว่า เฮกเตอร์คิดว่าเธออยากให้เขาตาย เพื่อปลดปล่อยเธอให้ไปอยู่กับเฮลิคาออน แต่เธอก็ไม่รู้จะพูดกับเฮกเตอร์ยังไง เราเกลียดเธอสุดๆ และอนาถใจเฮกเตอร์ไปพร้อมๆ กัน ผู้ชายโง่ๆ ที่หลงรักผู้หญิงเลวๆ ไม่มีคุณค่าพอให้เราชื่นชม

แต่ถ้าถามว่า ถ้าไม่ใช่แอนโดรมาคี แล้วควรจะให้ใครมาเป็นนางเอกแทน ก็ตอบไม่ได้แฮะ น่าเห็นใจผู้แต่ง เพราะบทผู้หญิงใน Iliad มีตัวเลือกให้ไม่มาก การที่บทของนางเอกในเล่มสองกับเล่มสาม สร้างความรู้สึกแตกต่างให้เราขนาดนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ ผู้แต่ง David Gemmell เสียชีวิตไปก่อนหลังจากแต่งเล่มสามได้แค่ครึ่งเล่ม แล้วภรรยาของเขาแต่งต่อให้จบแทนจาก outline ที่วางไว้หรือเปล่า

เราก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าเราไม่เอาเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของ Iliad หรือหนังเรื่อง Troy (ที่ Brad Pitt กับ Eric Bana แสดงนำ) เราจะคิดยังไงกับหนังสือชุดนี้ เพราะถ้าเราไม่อ่านไปเทียบไป เราก็จะไม่เห็นการอธิบายเนื้อเรื่องและความเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากต้นฉบับ ที่เรารู้สึกว่าเป็นความฉลาดแยบยลในการเล่าเรื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบ เราก็ทำใจรับกับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ได้เหมือนกัน สรุปว่า เราคิดว่า David Gemmell นั้น too ambitious ที่หาญกล้าหยิบมหากาพย์มาเล่าใหม่ในแบบของตัว แต่สุดท้ายก็อาจจะทำได้ไม่ดีพอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น