ปรกติเราไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือฮาวทูหรือแนวพัฒนาตนเองเท่าไหร่ แต่เล่มนี้แค่ชื่อเรื่องกับคำโปรยบนหน้าปกก็แทบจะขายให้เราได้แล้ว พลิกอ่านได้ 3 หน้าก็ซื้อเลย หนังสือเล่มบางๆ แค่เกือบๆ 200 หน้า แต่ถ้านึกภาพว่า ทุกครั้งที่อ่านเจอข้อความโดนใจ เหมือนโดนลูกศรยิงใส่ดอกนึง พออ่านจบเล่ม เราก็คงเหมือนตัวเม่นเลย
หลังๆ บางครั้งเราเริ่มเบื่อว่า เหตุผลดีกว่าอารมณ์เสมอหรือ ที่คนชอบพูดว่า ทำไมต้องเอาตัวเองไปผูกกับอะไร (... แล้วแต่จะใส่ เช่นนิยาย+หนัง) มากขนาดนั้น อืมม์ ก็จริงแหละ แต่ถ้าไม่ยอมปล่อยใจเข้าไปอิน แล้วมันจะประทับใจหรือสนุกสุดๆ ได้ไงล่ะ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ก็เลยมีส่วนที่โดนเรามากเลยว่า การใช้ประโยชน์จากความรู้สึกที่หลากหลาย และการมีความรู้สึกเป็นลักษณะเฉพาะและแสดงคุณสมบัติของมนุษย์ได้ดีที่สุด ทำให้เราสบายใจดีว่า เราไม่ต้องมีเหตุผลตลอดเวลา มีอารมณ์ความรู้สึกเยอะๆ ก็ได้ไม่เป็นไร การมีขอบเขตความรู้สึกที่กว้าง ทำให้เหมือนได้ใช้ชีวิตเต็มที่ดี แค่ต้องพยายามรักษาไว้ในเชิงบวกเท่านั้น สับสวิชต์สมองให้ดีๆ การมีฐานที่มั่นคง ให้สมองหลุดจากวังวนเชิงลบ
ในหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนผสมของวิชาการด้านสมอง จิตวิทยา การเปรียบเทียบวิธีคิดและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นกับตะวันตก และบวกข้อคิดในการดำรงชีวิต ถ้าพูดจริงๆ ก็คือว่า เล่มนี้ไม่มีเนื้อหาตรงไหนเป็นการค้นพบใหม่เอี่ยมอะไร ทุกเรื่องในนี้คล้ายกับว่าเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เคยผ่านหูผ่านตามาก่อนทั้งนั้น แต่ด้วยการเขียนที่อ่านง่าย มีข้อความไฮไลต์ในหนังสือแทรกเป็นระยะ ไล่เรียงเป็นจังหวะจะโคน มีเหตุมีผลแบบมีชีวิตจิตใจ มีตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงของทุกคนได้ ทำให้รู้สึกว่ามันสร้างสรรค์ จริงแฮะ ใช่เนอะ เออว่ะ ทำไมเราไม่นึกอย่างนี้มาก่อนนะ อ่านแล้วรู้สึกใช่มากๆ เลย
อีกเรื่องที่ชอบก็คือ สไตล์การเขียนแบบถ่อมตนของคนญี่ปุ่น ขอยกความดีให้ทั้งผู้เขียนและผู้แปล เหมือนคนเขียนเขาสอนไปโค้งไป หนังสือแนวนี้บางเล่มที่ฝรั่งเขียนบางทีอ่านแล้วรู้สึกว่าคนเขียนอีโก้จัด บอกให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ของไทยบางทีก็เหมือนเขียนมาจากบนธรรมาสน์ บางครั้งอ่านแล้วรู้สึกจิตตกไปก็มี เหมือนเหนื่อยที่จะต้องพยายามฝืนตัวเองเพื่อเป็นคนดี เราก็เลยชอบเล่มนี้มากๆ เพราะอ่านแล้วสบายๆ ดี
ถ้ายกข้อความที่ชอบจากในหนังสือมา คงจะต้องพิมพ์จนเมื่อยมือ ขอจดแค่ตรงนี้เก็บไว้แล้วกัน
“เราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของคนอื่นได้ แล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างนั้นด้วย อาจจะดูเหมือนเป็นคนเย็นชาไปบ้าง แต่ในการคบหาสมาคมกับคนอื่น บางครั้งก็จำเป็นต้องเย็นชา ... เมื่อเราได้ขว้างลูกบอลที่แสดงความรู้สึกของเราออกไปแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งจะรับหรือไม่รับก็เป็นเรื่องของเขา”
2 ความคิดเห็น:
ขอติดตามนะคะ
อ่า แต่ปรกติไม่ค่อยได้เขียนบล็อกถึงหนังสือแนวนี้นะคะ ^^;
แสดงความคิดเห็น