วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

PLUTO ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์

คะแนน : 8.5


ปกติเขียนถึงแต่นิยายภาษาอังกฤษที่อ่านจบไป แต่ความจริง เรายังอ่านหนังสืออื่นๆ อีกด้วยนะคะ อย่างตอนนี้กำลังค่อยๆ อ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ ทีละนิด และนอกจากหนังสือ อีกอย่างที่เราอ่านเป็นประจำคือ การ์ตูนญี่ปุ่น อย่างที่เราแนะนำตัวเองไว้ว่า เราหัดอ่านหนังสือจากการ์ตูนโดราเอมอน (สนพ. มิตรไมตรี) ผ่านมาจนป่านนี้ ตอนนี้เราก็ยังไม่เลิกอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เรามีการ์ตูนอยู่เต็มบ้าน เคยนับจริงๆ เมื่อสักสิบปีก่อน ตอนนั้นมีประมาณ 5,000 เล่ม ตอนนี้ไม่รู้มีเท่าไหร่ อาจจะถึงหมื่นเล่มก็ได้ ถึงแม้เรื่องที่เราตามอ่านจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามปีที่ผ่านไปก็ตาม ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีความรู้สึกอยากเขียนบล็อก ถึงหนังสือและการ์ตูนเหล่านั้นมากเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่า การอ่านเรื่องที่มีเป็นเล่มจริง พออ่านจบวางไว้บนชั้นหนังสือ มันก็เป็นหลักฐานการอ่านที่เรารู้อยู่ในใจและเห็นอยู่กับตา แต่พอช่วงหลังเปลี่ยนมาอ่านหนังสืออีบุ๊ค ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาว่าอ่านไปเท่าไหร่แล้ว ไม่รู้เหมือนกัน แต่มันอาจส่งผลทางจิตวิทยา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยากเขียนบล็อกถึงมัน เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานการอ่านจบแล้วให้ตัวเองก็ได้ หรือไม่ก็เพราะการ์ตูนเรื่องหนึ่งมันยาว ตามอ่านกันหลายปีกว่าจะจบ บางเรื่องหลายสิบปีก็ยังไม่จบ ก็เลยไม่ค่อยมีโอกาสได้เขียนถึง

กลับมาว่ากันต่อถึงการ์ตูนที่เราจะเขียนถึงวันนี้ เพราะ Pluto เล่ม 8 ซึ่งเป็นเล่มอวสานเพิ่งออกมาในสัปดาห์นี้ เรื่องนี้ขนาดมีแค่ 8 เล่ม ยังตามอ่านกัน 4 ปีเลย อ่านจบแล้วชอบมาก ก็เลยอยากจะบันทึกความรู้สึกที่มีต่อเรื่องนี้ไว้ เรื่องนี้เป็นผลงานของอุราซาว่า นาโอกิ ซึ่งเราชอบมาตั้งแต่สมัยเรื่อง Monster และ 20th Century Boys แล้ว (แต่เราเลิกซื้อ Yawara! ไปกลางคัน เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่าไม่สนุก) โดย Pluto ดัดแปลงมาจากตอนหนึ่งของการ์ตูนคลาสสิค ผลงานของปรมาจารย์เทะสึกะ โอซามุ เรื่องอะตอม เจ้าหนูปรมาณู ตอนหุ่นยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (อยู่ในเล่ม 13 สนพ. วิบูลย์กิจ) ตอนแรกที่เราซื้อ Pluto เล่ม 1 เห็นบนปกก็แปลกใจ เอ๊ะ เทะสึกะ โอซามุ ตายไปตั้งนานแล้ว มาเป็นผู้แต่งร่วมได้ไง แถมการวาดก็เป็นลายเส้นเอกลักษณ์ของอุราซาว่าชัดเจน พอเปิดอ่าน ตอนท้ายก็มีอธิบายไว้ อ๋อ ขออนุญาตทายาท หยิบเนื้อเรื่องเก่าเฉพาะตอนมาเขียนใหม่นี่เอง

ถ้าใครเคยอ่าน Monster และ 20th Century Boys มา จะรู้ว่า อ.อุราซาว่า เขียนพล็อตเรื่องได้น่าติดตามมาก มีปมให้สืบสาวเรื่องราว การลุ้นและตามไขปริศนาหาตัวร้าย อ่านจบแต่ละเล่ม กว่าจะรอให้เล่มใหม่ออกนี่ทรมานใจมากอยากรู้เนื้อเรื่องต่อไป ซึ่ง Pluto ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ ก็มีคุณสมบัติดังกล่าวครบ การหยิบเนื้อเรื่องจากอะตอมก็ไม่ได้หยิบมาอย่างทื่อๆ แต่มีความกล้าหาญในการดัดแปลงมาเป็นสไตล์ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ โดยยังคงความเคารพต่อผลงานต้นฉบับอย่างเต็มที่ และดีที่มีโครงเรื่องต้นฉบับบังคับ ทำให้ Pluto ไม่ลงเหว ไม่ออกทะเล ไม่ยาวเยิ่นเย้อ เนื้อเรื่องสับสน อ่านแทบไม่รู้เรื่องอย่าง 20th Century Boys เล่มท้ายๆ

เนื้อเรื่องใน Pluto นี้ เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของเกซิกต์ หุ่นยนต์ตำรวจนักสืบจากประเทศเยอรมนีเป็นตัวดำเนินเรื่อง ในโลกยุคอนาคต หุ่นยนต์ชั้นนำของโลกถูกไล่ล่าและถูกฆาตกรรมไปทีละราย โดยฝีมือของผู้ร้ายลึกลับ เงื่อนงำที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุ อยู่ที่สภาพร่องรอยที่เหมือนกะโหลกมีเขา เกซิกต์ตามสืบคดี และได้ติดตามมาพบอะตอม ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก 7 ตัวที่จะถูกตามล่าด้วยเช่นกัน

แม้การดำเนินเรื่องหลักจะยึดโครงเรื่องตามในเรื่องอะตอม แต่การเล่าเนื้อเรื่องเป็นสไตล์สืบสวนสอบสวนไขปริศนาเต็มที่ และที่น่าชื่นชมมากๆ คือตัวละคร ทั้งการออกแบบหน้าตาและบุคลิก ถ้าไม่บอกไม่รู้เลย จากอะตอมหน้าตัวการ์ตูนตาโต กลายเป็นหน้าตาเด็กผู้ชายธรรมดา และเราชอบมิติความลึกของตัวละครที่เพิ่มเข้ามามากๆ เกซิกต์มีความลึกซึ้ง ไม่ใช่หุ่นกระป๋องธรรมดา มีเรื่องราวที่เพิ่มมาจากต้นฉบับมากอยู่ (เรานับแล้ว เกซิกต์ในเรื่องอะตอมมีบทอยู่ 7 หน้าเท่านั้น) เขามีภรรยาหุ่นยนต์ชื่อเฮเลน่า และเขามีฝันร้าย ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ไม่ควรจะมีได้ แถมยังมีปริศนาเรื่องความทรงจำที่หายไป

อันที่จริงงานของเทะสึกะ โอซามุ ก็ไม่ใช่ว่าตื้นเขิน อย่างเราเคยอ่าน Black Jack บางตอนแล้วกลั้นน้ำตาไม่อยู่ แต่อะตอมเป็นเรื่องสมัยเก่า ลายเส้นโบราณๆ การเล่าเรื่องมันก็เลยทื่อๆ มุมมองภาพเชยๆ และไม่ได้ให้เวลากับตัวละครหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ นอกจากอะตอมมากนัก พอเอามาเล่าใหม่ เพิ่มภูมิหลังตัวละคร มีเนื้อเรื่องใหม่ที่เสริมเข้ามาให้สมบูรณ์ขึ้น บวกกับการวาดที่ใช้มุมกล้องแบบหนัง กลายเป็นเรื่องที่สุดยอดไปเลย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ หรือมุมมองที่มีต่อสงคราม ถูกถ่ายทอดมาได้ดีมากๆ

อีกอย่างที่เราชอบคือ บทสนทนาเจ๋งๆ อย่างเรื่อง สมองมนุษย์ที่มีกลไกการลืมเพื่อเยียวยาความเจ็บปวด แล้วหุ่นยนต์ที่จำทุกอย่างในชิพเมมโมรี่ได้ล่ะจะทำยังไง หุ่นยนต์รู้สึกเจ็บปวดโกรธแค้นได้หรือเปล่า จริงๆ เราว่า มันเป็นการพูดถึงจิตใจมนุษย์โดยผ่านมุมมองของหุ่นยนต์นะ จะว่าไปมนุษย์อาจจะมีความอ่อนไหวในใจกับอำนาจของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีผลต่อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ก็เลยมีนักเขียนที่พยายามพูดเรื่องพวกนี้รึเปล่า

ตอนเด็กๆ เราโดนว่าประจำเรื่องหมดเงินไปกับการซื้อการ์ตูน ตอนเป็นวัยรุ่นถูกถามเสมอว่า โตแล้วเมื่อไหร่จะเลิกอ่านซะที บางทีเรายัวะตอบกลับไปว่า เราจะอ่านการ์ตูนไปตลอดชีวิต จนที่บ้านชินเลิกพูดเรื่องนี้ตั้งนานแล้ว แต่ตอนนี้พออายุมากขึ้น รสนิยมเราก็เปลี่ยน เวลาก็ไม่เอื้อ เราอ่านการ์ตูนน้อยลงมากๆ แล้ว เหลือตามอยู่จริงๆ สัก 10 เรื่องเท่านั้น ความคิดก็เปลี่ยนเป็นแค่ว่า เราจะอ่านการ์ตูนไปจนกว่าเราจะรู้สึกว่าอ่านไม่สนุกแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ แบบนี้แหละ ที่ทำให้เรายังเลิกอ่านการ์ตูนไม่ได้เสียที เพราะถ้ายอมรับว่า เป็นผู้ใหญ่แล้วต้องเลิกอ่านการ์ตูน ก็คงน่าเสียดายที่พลาดเรื่องดีๆ แบบนี้ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น