วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

Cat on a Hot Tin Roof - Tennessee Williams

คะแนน : 8.25

ถ้าไม่มาแปะไว้ก่อน สงสัยเราจะขี้เกียจเขียนบล็อกถึงเรื่องนี้จริงๆ นะนี่ ถ้าเขียนตอนเพิ่งอ่านจบใหม่ๆ อารมณ์ที่ยังอินจะทำให้เขียนง่าย พอหลายวันแล้วความรู้สึกมันจางลงจะฝืด บางทีก็ทำให้ข้ามการเขียนไปหลายเรื่องเลย แต่สำหรับเรื่องนี้ ควรจะเขียนถึงความรู้สึกเก็บไว้ให้ตัวเองอ่านสักหน่อย

เมื่อสมัยที่ TrueVisions ยังเป็น UBC มันมีช่อง TNT ที่เอาหนังฝรั่งเก่าๆ มาฉาย ปรกติก็ไม่ค่อยได้ดูช่องนี้หรอก แต่วันหนึ่งตอนที่เรากดรีโมตโทรทัศน์ไปเรื่อยๆ ผ่านช่องนี้ เห็นหน้านางเอก นี่เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ นี่นา ยังสาวสวยปิ๊งอยู่เลย ก็เลยหยุดดูแป๊บนึง เห็นหน้าพระเอก โอ๊ะโอ หล่อโฮก หล่อเทพ ช่วงปีนั้นเราอุทานว่าอะไรหว่า เอาเป็นว่าหล่อมากแล้วกัน รู้ทีหลังว่าเขาคือ พอล นิวแมน นั่นเอง จำหน้าไม่ได้ ตอนนั้นเป็นฉากในห้องนอน สามีภรรยากำลังคุยกันอยู่ พอดีถึงช็อตที่นางเอกคร่ำครวญกับพระเอกว่า เมื่อไหร่คุณจะเลิกลงโทษฉันซะที คุณไม่ยอมนอนกับฉันเลย แล้วพยายามยั่วยวนพระเอกเต็มที่ ทีนี้ตาลุกเลย ผัวเมียคู่นี้เขาทะเลาะอะไรกัน อยากรู้เรื่องชาวบ้านขึ้นมาทันที รีบคว้าหนังสือโปรแกรม นี่เรื่องอะไรเนี่ย Cat on a Hot Tin Roof ฉายมากี่นาทีแล้ว ยังต้นเรื่องอยู่นิ คงดูรู้เรื่อง ทีนี้ก็ตั้งอกตั้งใจดูจนจบ ดูจบแล้วก็ชอบมาก แต่ก็มีงงหลายจุดเลย ไหนดูซิ ฉายอีกทีวันไหน แล้วช่วงนั้นก็ได้ดูซ้ำตั้งแต่ต้นไปอีกสองรอบ ประทับใจ ตอนหลังเราก็ซื้อแผ่นเรื่องนี้มาเก็บ



เมื่อตอนที่คุณยายลิซเสียชีวิต (R.I.P นะคะ) ทำให้เราหวนนึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เออ เรื่องนี้มันมีหนังสือด้วยนี่นา ในหนังมันมีประเด็นที่เราคาใจอยู่หลายอย่างเหมือนกัน ลองอ่านแบบเป็นหนังสือบ้างก็ดีแฮะ เผื่อจะได้รู้เรื่องราวลึกๆ มากขึ้น

Cat on a Hot Tin Roof เป็นบทละครของ Tennessee Williams เขียนขึ้นเพื่อแสดงเป็นละครเวที เมื่อออกแสดงก็ได้รับความสำเร็จทั้งด้านเสียงวิจารณ์และความนิยมจากคนดู และเป็นบทละครที่ทำให้ผู้ประพันธ์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์เป็นครั้งที่สอง สามปีต่อมาก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงข้างบน แต่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปบางส่วนจากบทละคร ทำให้ผู้ประพันธ์ไม่ชอบเอามากๆ ถึงขนาดวันฉาย เขาไปบอกคนที่เข้าคิวซื้อตั๋วหน้าโรงให้คนดูกลับบ้านไป อย่าดูหนังเรื่องนี้เลย เพราะมันจะพาให้วงการภาพยนตร์ล้าหลังไปอีก 50 ปี แต่ความพยายามของเขาดูจะไม่ได้ผลเท่าไหร่นะ เพราะหนังเรื่องนี้ดังเป็นพลุแตก ทำเงินบ็อกซ์ออฟฟิศได้สูง แถมได้เสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขา (แต่วืดหมด)

ถึงจะไม่นับฉบับภาพยนตร์แล้ว แต่ Cat ก็ยังเป็นบทละครที่มีหลายเวอร์ชัน ร่างแรกสุดที่ Tennessee Williams เขียน แล้วก็ฉบับที่ปรับปรุงเพื่อแสดงในบรอดเวย์ครั้งแรก ส่วนหนังสือที่เราได้มานี้ เป็นฉบับที่ผู้แต่งปรับปรุงครั้งล่าสุดก่อนเสียชีวิต และเป็นฉบับที่เขาขอให้ยึดถือเป็นหลัก เนื้อเรื่องของ Cat เกี่ยวพันกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวในครอบครัว ทั้งสามี-ภรรยา พ่อ-ลูก พี่-น้อง ตัวเอกคือ บริค อดีตวีรบุรุษนักฟุตบอลที่กลายเป็นคนขี้เหล้า กับ แม็กกี้ ภรรยาของเขา มาร่วมงานวันเกิดของพ่อ บิ๊กแด๊ดดี้ ราชาเจ้าของอาณาจักรไร่ขนาด 28,000 เอเคอร์ ที่กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง แต่หมอยังปิดบังเจ้าตัวคนป่วยไม่ให้รู้

ในนี้จะแบ่งเป็นสามองก์ องก์แรกเป็นฉากในห้องนอนของบริคกับแม็กกี้ แนะนำให้เรารู้จักตัวละครสองคน คู่สามีภรรยาที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ร้าวฉานกันที่สุด อยู่กันไปแบบที่ฝ่ายหญิงเรียกว่า "เราแค่อยู่ในกรงเดียวกัน" โดยชนวนเหตุบาดหมางมาจากเรื่องของสกิ๊ปเปอร์ เพื่อนสนิทของบริคที่ตายไป องก์สองจะเป็นการสนทนาระหว่างบริคกับพ่อ และองก์สุดท้าย ทุกคนในบ้านจะเผชิญหน้ากัน ตีแผ่ธาตุแท้ของทุกคน

ปรากฏว่า พอมาอ่านหนังสือ ไอ้ที่นึกว่าจะทำให้รู้และเข้าใจเนื้อเรื่องมากขึ้น กลับรู้เรื่องน้อยลง และสงสัยมากขึ้นยิ่งกว่าตอนดูหนังซะอีก เพราะความที่มันเป็นบทละคร ไม่ใช่นิยาย มันก็จะมีแค่บทพูดของตัวละคร และอธิบายกิริยาอาการของตัวละครสั้นๆ เท่านั้น ไม่มีการบรรยายความรู้สึกนึกคิดในจิตใจให้รู้เลย แถมบางทียังมีหมายเหตุผู้เขียนบอกนักแสดงอีกว่า ตรงนี้ทำตัวลึกลับไว้นะ อย่าแสดงออกชัด ให้คนดูตีความเอาเอง และเนื้อเรื่องในบทละครมีน้อยกว่าในภาพยนตร์ซะอีก แต่อ่านแล้วนับถือผู้แต่งเลย แค่ตัวละครมายืนคุยกัน รวมเวลาน่าจะชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น แต่มีพลังดึงดูดให้คนอยากรู้จักอยากเข้าใจตัวละครได้ขนาดนั้น ดูเผินๆ เนื้อเรื่องในบทละครกับในหนังมันคล้ายกันมาก แต่ถ้าดูรายละเอียดดีๆ บางทีคำพูดที่ต่างกันประโยคเดียว มันก็ทำให้เรื่องพลิกไปเยอะพอควรเลยแหละ อารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านกับการดูก็จะต่างกัน ซึ่งเราชอบทั้งสองแบบ แต่ขอโทษวิญญาณท่านผู้ประพันธ์นะคะ หนูชอบแบบภาพยนตร์มากกว่าค่ะ


เราจะพูดถึงเนื้อเรื่อง เปรียบเทียบในหนังสือกับหนังอย่างอิสระเลยนะคะ เพราะนี่เป็นเรื่องเก่า เขาอ่านกันจนปรุแล้ว เป็นบทละครที่ฝรั่งเขาเอามาให้นักเรียนอ่านในชั้นเรียนด้วย มีหนังสือคู่มือที่วิเคราะห์เรื่องนี้ จำนวนหน้าหนากว่าบทละครต้นเรื่องซะอีก เราอ่านไปนิดหน่อยยังทึ่งเลยว่า วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตีความแต่ละประโยคกันขนาดนั้นเลย และถึงรู้เนื้อเรื่องก็ไม่เรียกว่าสปอยล์หรอก เพราะอรรถรสของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่เนื้อเรื่อง แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจคำพูดกับพฤติกรรมของตัวละครต่างหาก แบบความสนุกอยู่ที่การต้องใช้พลังในการอ่านระหว่างบรรทัดสูง

ในบทละคร แม็กกี้จะดูเป็นผู้หญิงทะเยอทะยานเห็นแก่ตัวมากกว่าในภาพยนตร์ แต่เราก็ชอบตัวละครตัวนี้นะ เปิดฉากมาด้วยการที่แม็กกี้พร่ำบ่นว่าคนโน้นคนนี้ อืมม์ ผู้หญิงคนนี้ปากร้ายใจด้านนิสัยไม่ดี แต่ในขณะที่เธอพูดไปเรื่อยๆ มันก็จะมีบางถ้อยคำที่ทำให้เรารู้สึกเห็นใจเข้าใจผู้หญิงที่ร้อนรนไม่มีความสุขคนนี้ขึ้นมาได้ อย่างเช่นตอนที่แม็กกี้ย้ำกับบริคว่า ฉันเคยจน คนเราไม่มีเงินตอนอายุน้อยได้ แต่ไม่มีเงินตอนอายุมากไม่ได้ เห็นภาพสการ์เล็ตตอนกำก้อนดินขึ้นมาประกาศว่า As God is my witness, I'll never be hungry again. เลย ไม่ได้หมายความว่า เราชอบแม็กกี้ขนาดสการ์เล็ตหรอกนะคะ ระดับความชอบคนละสเกลกันเลย Gone with the Wind นั่นเรื่องในดวงใจเรา แค่มันทำให้นึกถึง

ปรกติเรารู้สึกว่า เราชอบพระเอกนางเอกที่เป็นคนดี แต่บางครั้งมันก็จะมีตัวละครบางคนที่เราว่าเขานิสัยไม่ดี แต่กลับทำให้เราชอบ พอชอบแล้วก็ดันบอกเหตุผลไม่ค่อยได้ว่าชอบตรงไหน คงต้องบอกว่า เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มั้ง หรือไม่ก็เพราะเราว่า ความเห็นแก่ตัวเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าไม่เลวชั่วร้ายแบบไปทำร้ายคนอื่น เราก็ยังถือว่าไม่ล้ำเส้น เราคงชอบความมุ่งมั่น กล้าทำตามความต้องการตัวเองแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น แม็กกี้แสดงให้เห็นชัดๆ ว่า หวังเงิน และก็ร้ายกาจไม่ใช่เล่น อย่างตอนที่แม็กกี้พูดใส่หน้าบริคว่า เธอยอมขึ้นเตียงกับสกิ๊ปเปอร์ เราก็ เฮอะ? แต่ก็ยังอยากรอฟังว่า ทำไม ในละคร แม็กกี้บอกว่า ที่คิดจะทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้สกิ๊ปเปอร์กับเธอรู้สึกใกล้ชิดกับบริคมากขึ้น แต่ในหนัง เธอบอกว่า เพื่อพิสูจน์ให้บริคเห็นว่าเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ แต่สุดท้ายเข้าใจว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสองเวอร์ชัน แต่ลงเอยที่สกิ๊ปเปอร์ฆ่าตัวตายเหมือนกัน

บริคในละครเป็นตัวละครที่ทำความเข้าใจยากมาก ผู้แต่งบอกว่า แก่นของเรื่องนี้คือโศกนาฏกรรมของบริค เขาจะดูเคว้งๆ อยู่ทั้งเรื่อง ในบทละครจะมีประเด็นเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในเรื่อง คนอ่านคนดูก็นั่งวิเคราะห์กันไปเถอะ ตกลงบริคเป็นเกย์กับสกิ๊ปเปอร์รึเปล่า ในทางพฤตินัยน่ะคงไม่มีแน่ๆ และบริคก็เป็นฟืนเป็นไฟมากถ้าใครพูดไปในแง่นั้น เรื่องบนเตียงของบริคกับแม็กกี้ เจ้าตัวทั้งคู่ก็บอกว่าดี ผ่านมา 50 ปี คนยังเถียงกันไม่ได้ข้อสรุปเลย แต่ความคิดส่วนตัว เราว่าบริคเป็นค่ะ แต่ยังไม่ยอมรับตัวเอง แต่ในหนัง ตัดประเด็นนี้ออกหมด บริคเป็นชายแท้ทั้งแท่ง ปัญหาของเขาถูกโยนไปที่การขาดความรักจากพ่ออย่างเดียว ทำให้เราว่าบทของบริคในหนังจะดูอ่อนกว่าในละคร ดูหนังรอบแรกๆ เราไม่รู้สึก แต่หลังจากอ่านบทละครแล้วกลับมาดูหนังอีกที พอไม่มีประเด็นปัญหาเรื่องตัวตนทางเพศที่แอบซ่อนอยู่มารองรับ เลยเหมือนเขาเป็นแค่ crybaby ชีวิตผิดหวังไม่ได้ดังใจก็งอแง ประชดพ่อ ประชดเมีย ประชดตัวเอง

บิ๊กแด๊ดดี้เป็นตัวละครสำคัญมากอีกคนหนึ่ง โดดเด่นมีพลังขับดันเรื่อง เราช็อคค่ะ ตอนอ่านวิเคราะห์ทีหลังแล้วมีคนบอกว่า บิ๊กแด๊ดดี้ก็อาจจะเคยมีพฤติกรรมรักร่วมเพศสมัยหนุ่มๆ ก่อนแต่งงาน อ่านข้ามไปไม่สะดุดใจเลย ต้องย้อนมาอ่านช่วงนั้นอีกรอบ อืมม์ ก็ยังไม่เคลียร์ค่ะ ตาแก่แกชอบผู้หญิงอยากหาเมียน้อยไม่ใช่เรอะ แต่ถ้าใช่ พฤติกรรมของบิ๊กแด๊ดดี้ที่แสดงออกต่อบิ๊กมาม่า ก็จะดูมีเหตุผลมากขึ้น ส่วนในหนังก็ไม่มีประเด็นนี้อีกเช่นกัน แต่เบนประเด็นเพิ่มบทให้บริคตามไปคุยกับพ่อที่ห้องใต้ดิน แล้วบิ๊กแด๊ดดี้คุยเปิดใจเรื่องพ่อตัวเองให้ฟังแทน

สำคัญที่ตอนจบต่างกันลิบลับเลย เรื่องนี้มีฉากจบสามแบบ โดยภาพใหญ่อาจจะเหมือนกันตรงที่ ความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ ทำได้ทุกอย่างกระทั่งการโกหกครั้งใหญ่ของแม็กกี้ น่าจะทำให้เธอได้ตัวบริคกลับมา (และการันตีว่า มรดกจะไม่หลุดไปไหน) แต่เวอร์ชั่นที่ผู้ประพันธ์ชอบ เมื่อแม็กกี้บอกบริคว่าเธอรักเขา บริคกลับตอบด้วยรอยยิ้มเศร้าว่า Wouldn’t it be funny if that was true? ในขณะที่บทบรอดเวย์ครั้งแรก บริคก็จะแสดงท่าทางอ่อนลงนิดนึง ด้วยการบอกว่า "ผมชื่นชมคุณ แม็กกี้" ส่วนแบบภาพยนตร์ จบลงด้วยชัยชนะยิ่งใหญ่ของแม็กกี้เดอะแคท เพราะได้ทั้งตัวทั้งใจสามีกลับคืนมา

โดยทั่วไป เราจะเกลียดหนังฮอลลีวู้ดที่เน้น commercial แปลงบทประพันธ์ซะเสีย โดยเฉพาะ The Count of Monte Cristo (2002) กับ Man in the Iron Mask (1998) ที่เปลี่ยนเรื่องซะเละเทะทุเรศมาก แต่กรณี Cat สำหรับคนชอบเรื่องที่จบแบบมีความสุขอย่างเรา เราชอบแบบหนังมากกว่าค่ะ (8.5) บทละครก็จะชอบไปอีกแบบ (8.25) แต่คงต้องมองมันแยกจากกันเหมือนเป็นคนละเรื่อง

Dangerous in Diamonds - Madeline Hunter

คะแนน : 7.5

Rarest Blooms #4 เล่มจบของซีรีส์ ครึ่งเล่มแรกสนุกมาก กรี๊ดสลบกับจอมแสบคาสเซิลฟอร์ด เป็นตัวละครที่ชอบมาก่อนจะเปิดหน้าแรกของเล่มนี้ ตอนเล่มหนึ่งเราไม่ชอบเขา พอเล่มสองยังจำฉากแรกที่ทำให้เราหลงเสน่ห์เขาได้เลย เป็นตอนที่ฮอว์คเวลส์มาขอคำปรึกษาว่า ถ้าผู้มีอำนาจจะทำให้ผู้ชายคนหนึ่งหายตัวไปจะทำไง แล้วคาสเซิลฟอร์ดดันนึกว่าเพื่อนจะทำก็ให้คำแนะนำแบบหน้าซื่อตาใสมา แล้วฮอว์คเวลส์หันมาถามเซบาสเตียนว่า ฆ่าหมอนี่ได้ไหม ก๊ากเลย ขำกับเรื่องวันอังคาร แล้วเล่มนี้ก็ไม่ผิดหวังกับพระเอกเลย ชอบฉากที่คาสเซิลฟอร์ดคุยกับฮอว์คเวลส์จัง ตลกดี กับฉากที่แดฟนีปฏิเสธคาสเซิลฟอร์ด ด้วยข้ออ้างตามที่ซีเลียแนะนำ ฮามาก

แต่ด้วยความที่รออ่านเล่มนี้มานาน ก็ไม่อ่านเรื่องย่อหรือรีวิวเลย กะว่าเดี๋ยวลุ้นเอง เราเลยไม่ได้เตรียมใจ ปรากฏว่า พอครึ่งเล่มหลังเรื่องเริ่มเครียด อ่านจบแล้วปวดหัวหนึบๆ ไม่น่าเลย ถ้าเรื่องไหนมีประเด็นเราอยากรู้ตัวก่อนอ่าน เดี๋ยวทำใจได้ก่อนค่อยกลับมาเขียนแล้วกัน

ต้องทำใจอยู่หลายวัน ถึงจะพอบอกความคิดตัวเองออกมาได้ มีสปอยล์ประเด็นสำคัญ



ไม่ได้ตั้งตัวจริงๆ กับประเด็นเรื่องนางเอกเคยถูกข่มขืน ถึงรู้ก่อนเราก็จะยังอ่านเรื่องนี้อยู่ดีแหละ แต่จะได้เตรียมใจให้เรียบร้อย ไม่ตกแอ้กมาเจ็บแบบนี้ ประเด็นนี้มันเครียดและหนักหัวเรามากจริงๆ นะ เคยอ่านสัมภาษณ์นักกิจกรรมทางสังคม เขาบอกว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงทางเพศสูง ไม่ต้องพูดถึงสถิติตัวเลขด้วยซ้ำ เพราะแม้แต่ผู้หญิงทั่วไปที่ไม่เคยเจอภัยคุกคามกับตัวเลยสักนิด ก็ยังรู้สึกเสี่ยงและกังวลกับภัยด้านนี้กันทั้งนั้น จากข่าวคราวรอบตัว แปลว่าสังคมมันแย่จริงๆ เราก็ว่าจริงมากๆ เลย ดูซิ ฉันนอนอ่านนิยายอยู่เฉยๆ ยังไม่สบายใจกับเรื่องได้ขนาดนี้เลย

ประเด็นอดีตเครียดของนางเอกไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่ชอบเรื่องนี้เท่าที่ควร แต่เรื่องของเรื่องก็คือเราคิดว่า แดฟนีไม่ดีพอสำหรับคาสเซิลฟอร์ดต่างหาก อ่านเล่มนี้แล้วเรารู้สึกเหมือนตอนที่เราอ่าน Slightly Dangerous ของ Mary Balogh ที่เราชอบวูล์ฟริคมากๆ มาจากเล่มก่อนๆ ของซีรีส์ แต่พอถึงเล่มของเขาเอง นางเอกของวูล์ฟริคธรรมดามากๆ (ดูสิ ชื่อยังจำไม่ได้เลย) เรื่องนั้นทั้งเรื่องอยู่ในระดับที่เราชอบ 8.5 เพราะพระเอกคนเดียวเลย จนจบเรื่องที่เราคิดกับนางเอกก็คือแค่ว่า ยังไงเธอก็เป็นคนที่วูล์ฟริครัก เราถึงเชียร์ให้เขาสมหวัง คงประมาณเหมือนแม่ที่ไม่ได้ชอบหน้าลูกสะใภ้มากหรอก แต่อยากเห็นลูกตัวเองมีความสุข เขารักใครชอบใครก็ต้องเอาใจช่วย

แต่ Dangerous in Diamonds แย่กว่านั้น ทั้งเรื่องเหมือนคาสเซิลฟอร์ดแบกรับบทบาทที่จะทำให้คนอ่านชอบอยู่คนเดียว แดฟนีไม่ช่วยอะไรเลย ไม่มีบทตรงไหนที่ทำให้เราชอบเธอเลย แถมยังติดลบด้วย อ่ะ พอพูดอย่างนี้ปุ๊บ นางมารที่ชอบประชดประชันในใจเราก็แหย่ทันที อคติล่ะสิ นางเอกไม่เวอร์จิ้นปุ๊บ ก็ไม่ชอบทันที แต่นางฟ้าช่างมีเหตุมีผลในใจของเราก็แก้ตัวเป็นพัลวันทันที เฮ้ย ไม่ใช่นะ เพราะทีเรื่อง Indiscreet ของ Mary Balogh อีกเช่นกัน นางเอกเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเหมือนแดฟนีเปี๊ยบเลยนะ เรื่องนั้นเรายังชอบเลย (แต่เราก็ไม่ชอบ Secrets of the Heart เอาซะเลยเหมือนกัน) ในกรณีแบบนี้ ผู้หญิงไม่ใช่ฝ่ายผิด ถึงจะไม่ชอบอ่านเพราะจะทำให้ไม่สบายใจ แต่ไม่ได้เอาประเด็นนี้มาเกี่ยงงอนกับนางเอกแน่ๆ

เรานึกไม่ค่อยออกว่าคาสเซิลฟอร์ดเห็นอะไรในตัวแดฟนีนอกจากสวย ที่คาสเซิลฟอร์ดกลับตัวเลิกสำมะเลเทเมา ก็เหมือนเขาเลิกของเขาเองมากกว่า ไม่ได้เกิดจากการอยากกลับตัวกลับใจเพื่อความรัก (ว่าแต่เลิกเหล้าง่ายจังแฮะ เราติดน้ำอัดลมอยากเลิกตั้งหลายที ยังเลิกไม่ได้เลย) แค่ผู้หญิงเล่นตัวนิดหน่อย จริงๆ ถ้าผู้ชายไม่ยั้งเอง ก็ไม่รอดด้วยซ้ำ เหมือนจะง่ายไปนิดด้วยสำหรับผู้หญิงที่เคยผ่านความหลังเลวร้ายมา จุดสำคัญที่ทำให้เราไม่ปลื้มแดฟนีคือ เธอไม่เคยพูดตรงๆ กับคาสเซิลฟอร์ดเลย ให้คาสเซิลฟอร์ดต้องพยายามเข้าใจเธอเอาเองตลอด โชคดีที่พระเอกฉลาดนะนี่ รู้เรื่องเองและเข้าใจยอมรับเองได้ จนจบเรื่องแดฟนีก็ไม่เคยบอกเลยว่ามีแผนจะทำอะไร แล้วยังจะเรื่องสำคัญตอนท้ายเล่มอีก เราว่าเอาเวลาที่เล่นเซ็กส์เกมยอมถูกมัดคือเชื่อใจอะไรนี่ มาพูดเปิดใจกันตรงๆ ดีกว่ามั้ย ไม่รู้สิ แต่คนที่นอนด้วยกันแล้วไม่คุยกัน เหมือนมันเป็นความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวย

ที่จริงเรื่องนี้ไม่แย่นะ แต่น่าเสียดายที่มันทำให้เราชอบมากกว่านี้ไม่ได้ ถึงเราจะชอบคาสเซิลฟอร์ดมากๆ และกด Like ให้กับบทบาทพระเอกของเขาในเล่มนี้ แต่คาสเซิลฟอร์ดคนเดียวแบกเรื่องไปไม่รอด เพราะโดนแดฟนีถ่วงน้ำหนักมากไป บทสรุปของซีรีส์นี้จึงลงเอยแบบที่ทำให้เราเสียความรู้สึกพอสมควร กลายเป็นภาพรวมจบไม่ค่อยสวยนัก เราคงไม่ค่อยชอบสไตล์นางเอกของ Madeline Hunter เท่าไหร่มั้ง ทั้งซีรีส์เราชอบออเดรียนน่าคนเดียว เรื่องอื่นๆ ของเธอที่เคยอ่าน ถ้าชอบก็มักจะชอบที่พระเอกมากกว่านางเอก

อีกอย่างที่ไม่ชอบคือบทสรุปของตัวร้าย เหมือนจะไม่สาสมเลย แต่ประเด็นนี้มันก็ทำให้ต้องคิดหนักอีก ที่เรารู้สึกขัดแย้งสับสนคือ ถ้าเราเรียกร้องให้ลงโทษหนักๆ ในทางสะท้อนกลับ คือ เรามองว่านี่เป็นสิ่งร้ายแรงมากใช่มั้ย มันจะเป็นการซ้ำเติมพวกผู้เคราะห์ร้ายรึเปล่า มันคงรู้สึกสวนทางกัน ถ้าเราอยากบอกผู้ถูกกระทำว่า ไม่เป็นไรๆ เรื่องแค่นี้ไม่ต้องฆ่าตัวตายแบบหนังจีน ทำใจเถอะ แต่จะไปเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำหนักขึ้น ไอ้ชั่วมันสมควรตาย มันแย้งกันมั้ย หรือไม่แย้งหรอกคนละส่วนกัน แล้วการแสดงความสงสารเหยื่อมากๆ เขาต้องการรึเปล่า จะทำให้การเยียวยาจิตใจยากขึ้นมั้ย เหยื่อไม่กล้าแจ้งความ เพราะกลัวอายมากกว่า คนชั่วก็ยิ่งลอยนวล แต่ถ้าเปิดเผยเพื่อเอาเรื่อง แน่ใจได้ไงว่า สายตาสงสารจากสังคมที่อาจจะติดไปนานชั่วชีวิตมันจะไม่ยิ่งเลวร้ายกว่า เราไม่รู้จริงๆ ว่ากับประเด็นแบบนี้ควรจะคิดยังไง ตกลงใจกับปัญหาเชิงจริยธรรมแบบนี้ไม่ได้ อะไรที่มันหาแห่งที่ของตัวเองในสมองไม่เจอ ขวางอยู่กลางมันก็เลยเป็นประเด็นรบกวนใจ โอ๊ย ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

The Girl Who Was on Fire


The Girl Who Was on Fire: Your Favorite Authors on Suzanne Collins' Hunger Games Trilogy เป็นรวมความเรียง 13 เรื่องจากนักเขียน 13 คน (แต่ไม่รู้จักสักคน) ที่พูดถึงหนังสือไตรภาคฮังเกอร์เกมส์ในแง่มุมต่างๆ กัน มีตั้งแต่บทที่ว่าด้วย สิ่งที่ฮังเกอร์เกมส์ทำให้คนประทับใจ การวิเคราะห์ตัวละครสำคัญหลายๆ ตัว รวมทั้งประเด็นการเมือง สงคราม บทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อสังคม จิตวิทยา รวมไปถึงแฟชั่น

ฮ่าฮ่า คนที่ยังไม่อ่านเรื่องนี้อย่าเพิ่งสงสัย พล็อตเรื่องเด็กแข่งฆ่ากันทำไมมีแฟชั่นมาเกี่ยวด้วย แต่ถ้าหนังเรื่องนี้ออกฉายเมื่อไหร่ ถ้า Hunger Games ไม่มีชื่อเข้าชิงออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายบ้างเลย เราจะถือว่าทีมงานสร้างสอบตกอย่างแรง (ขอแค่เข้าชิงบ้าง ไม่ต้องถึงกับได้หรอก) เพราะไม่ค่อยเห็นเรื่องไหนมีบทส่ง ที่เสื้อผ้าตัวละครจะมีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่องขนาดนี้ แบบในบทความนี้เอาชุดของแคทนิสมาไล่เรียงให้ดูทั้ง 3 ภาค แต่ละชุดที่ทำให้คนดูฮือฮาทั้งประเทศ เป็นเสื้อผ้าที่สร้างอารมณ์หลากหลายได้ทั้งตื่นเต้น สุข เศร้า อยากเห็นของจริงเร็วๆ จัง

หนังสือเล่มนี้ กลุ่มเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วนะคะว่า สำหรับแฟนที่ชอบหนังสือฮังเกอร์เกมส์ เวลาที่เราชอบเรื่องไหนมากๆ มันก็รู้สึกดีที่ได้อ่านสิ่งที่คนอื่นที่ชอบเหมือนกันพูดถึง แล้วก็จะได้แง่มุมใหม่ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนเพิ่มขึ้นมาด้วย สปอยล์แน่นอน



- เราชอบตอนที่พูดถึงพีต้า ว่าพีต้าที่เป็นคนดีที่สุดในเรื่อง แต่เขาเป็นคนที่โกหกเก่งที่สุดในเรื่องเหมือนกัน หลอกแคทนิส หลอกคนดูได้ทั้งประเทศ เออ จริงแฮะ
- คนมัวแต่สนใจทีมพีต้ากับทีมเกล แต่คนสำคัญที่สุดจริงๆ คือ ทีมแคทนิสต่างหากล่ะ ก็แหงล่ะ คงเป็นแฟนเรื่องฮังเกอร์เกมส์โดยไม่เป็นกองเชียร์แคทนิสไม่ได้ เพราะเล่นเป็นคนเล่าเรื่องอยู่คนเดียว ในนี้วิเคราะห์แคทนิสละเอียดมาก อ่านบทนี้แล้วทำให้เราเพิ่งรู้สึกตัวว่า ในบล็อกเรากรี๊ดๆ พีต้าไป จนไม่ได้พูดถึงแคทนิสเลย ก็ถือโอกาสนี้พูดถึงนางเอกของเราซะหน่อย เราชอบแคทนิสมากๆ ค่ะ ถ้าเราไม่ชอบแคทนิส ไม่เห็นว่าเธอดี เราคงไม่เชียร์พีต้าให้ได้คู่ซะขนาดนั้น อาจจะแอบค่อนพีต้าในใจว่างมงายก็ได้

เราชอบแคทนิสตั้งแต่แรกเลยนะ ถึงการแสดงออกภายนอกของแคทนิสจะดูไม่น่าคบ แข็งกร้าว ค่อนข้างปิดใจ แต่เราไม่เคยสงสัยในจิตใจแท้จริงของแคทนิสเลย เพราะมีพริมอยู่ ตั้งแต่ต้นเรารู้ว่าแคทนิสแคร์ เธอรักและปกป้องน้องสาวสุดจิตสุดใจ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็เป็นมนุษย์ธรรมดามาก ตอนที่เธอบอกว่า ยังเคืองแม่ที่อ่อนแอ หลังพ่อตายทำใจไม่ได้ ทอดทิ้งไม่ดูแลลูก เธอไม่ใช่คนช่างอภัย จำได้ว่าตอนอ่านยิ้มเลย เป็นตัวละครที่จับใจเราได้ตั้งแต่ต้น

ตอนที่แคทนิสยังไม่แน่ใจความรู้สึกตัวเองที่มีต่อเกลกับพีต้า แล้วเธอตัดสินใจปฏิเสธพีต้า เพราะยังไงเกลคือคนที่เธอรู้จักผูกพันมานานกว่า เรานับถือเธอมากเลยนะ เทียบกับนางเอกวัยรุ่นสมัยใหม่ยุคเดียวกันแบบ Vampire Academy ที่นอกใจแฟนตัวเองแอบมีเซ็กส์กับแฟนเก่า แล้วบอกเลิกแฟนใหม่ด้วยการบอกว่าก็นายไม่ดีเอง ทำให้ฉันรักไม่ได้ แคทนิสเป็นนางเอกที่มั่นคง และมีเกียรติมีศักดิ์ศรีกว่าเยอะมากเลย เธอไม่อยากทำร้ายความรู้สึกของผู้ชายที่มาชอบเธอทั้งคู่ และเธอก็ไม่อยากยื้อให้มันเลยเถิดจนคนอื่นจะยิ่งเจ็บ (แบบฉันรักเอ็ดเวิร์ด แต่ฉันเหงาต้องเอาเจค็อบเป็นเพื่อน) ล้อเล่น แฟน Twilight อย่าโกรธน้า ^_^

แคทนิสตัดพีต้าก่อนดื้อๆ ถ้ายังเลือกใครไม่ได้ ก็เลือกตัวเองก่อน ไม่ได้เลือกเกลแต่เลือกทำสิ่งที่มันจะไม่ผิดต่อความรู้สึกตัวเอง เลือกความซื่อสัตย์ภักดีก่อน ทั้งๆ ที่บอกตามตรงนะ เราว่า แคทนิสไม่เคยรักเกลแบบคนรักสักนิด ถ้าไม่มาแข่งฮังเกอร์เกมส์ ชีวิตเธอตั้งใจจะไม่แต่งงานไม่มีลูกเพราะกลัวลูกลำบาก อนาคตก็คงไม่แต่งกะเกลหรอก อยู่คนเดียวไปเรื่อยๆ ที่จริงเราว่า แคทนิสประทับใจพีต้ามาก่อนเกลอีก เด็กชายขนมปัง แอบมองกันห่างๆ มาตลอดนะคู่นี้ ตอนชื่อพีต้าถูกจับขึ้นมา แคทนิสยังนึกเลยว่า ไม่อยากให้เป็นเขา พอจบเกมส์กลับมา เรื่องราวมันสับสนแกล้งรักไม่รักกันจนงง แคทนิสก็เลยยังไม่รู้ตัวเท่านั้นเองว่ารู้สึกยังไงกับพีต้า จนในเกมส์ครั้งที่สองนี่มันชัดมากแล้วนะ ตอนที่แคทนิสคิดว่าถ้าพีต้าตาย เธอจะไม่มีวันทำใจได้

แคทนิสเป็นคนดี ในเกมส์ทั้งๆ ที่รู้ว่า ไม่ฆ่าก็ต้องถูกฆ่า แต่แคทนิสก็ไม่เคยตั้งใจจะออกไปฆ่าใครเลย ตอนเจอรูวก็คิดแต่จะปกป้องอย่างเดียว ไม่เคยมีความคิดจะฆ่าเด็กผ่านเข้ามาในหัวสักครั้ง ใน Mockingjay แคทนิสก็ไม่ได้มองคนแคปิตอลทุกคนว่าผิด ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยู่ตรงข้ามจะเป็นศัตรู ถึงจะไม่ได้นั่งคิดและพูดออกมาเป็นคำสวยๆ แบบพีต้าว่า ถึงตายก็จะตายแบบรักษาความเป็นคน แต่แคทนิสก็แสดงออกด้วยการกระทำจากส่วนลึกของจิตใจอยู่แล้ว

- มีบทที่วิเคราะห์ถึงเกล เออ แต่ก่อนเราก็ว่าเกลโอเคนะ แต่มาอ่านบทนี้เขาบอกว่า เกลทรยศแคทนิส พร้อมคำคม "การหลอกลวงเป็นญาติสนิทของการทรยศ แต่การทรยศหนักหนาสาหัสกว่า เพราะถูกกระทำโดยคนที่เคยเชื่อใจ" เกลทรยศแคทนิสตรงที่เขาคิดแต่จะตอบโต้แก้แค้นเมืองหลวง ยอมทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายโดยไม่สนใจวิธีการ จนข้ามเส้นคุณธรรม ทำให้แคทนิสสูญเสียเพื่อนคนที่เธอไว้ใจไป

- บทที่พูดเรื่องแฟชั่น พูดถึงแล้วข้างบน ประทับใจตอนที่เขียนถึงชุดแต่งงานของแคทนิส และการใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือกบฏของซินน่า ชอบบทนี้มาก และขอคารวะ ซินน่า ตัวละครที่เราชอบมากที่สุดรองจากพีต้าและแคทนิสไว้ตรงนี้

- บทที่พูดเรื่องจิตวิทยา กับอาการ PTSD บทนี้ค่อนข้างวิชาการนะ พูดถึงอาการทางจิตต่างๆ ของคนที่ผ่านเกมส์มา แต่ก็ชอบมากตรงวิเคราะห์เรื่องที่พีต้าวาดรูป ว่าเป็นการเลือกจัดการกับความทรงจำเลวร้ายวิธีหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจการทำงานของสมองมากขึ้น และก็ยิ่งทึ่งกับ Suzanne Collins ใส่รายละเอียดให้ตัวละครแต่ละตัวได้สมจริงมากเลย

- มีบทที่พูดเรื่องชื่อประเทศ Panem มาจากคำละติน panem et circenses แปลว่า ขนมปังกับละครสัตว์ (เกมส์) ที่มาจากบทความวิจารณ์การเมืองสมัยโรมันว่า แค่ผู้ปกครองโยนอาหารกับความบันเทิงให้ คนเราก็ยอมสูญเสียอย่างอื่นไปหมด เรื่องคำเรื่องชื่อนี่ Suzanne Collins คิดรายละเอียดไว้หมดแล้วจริงๆ นะ ไปเจอในเว็บบอกว่า แคทนิสเป็นชื่อเรียกหนึ่งของต้น Sagittaria เป็นพืชน้ำ ใบแหลมเหมือนหัวลูกธนู รากหนากินได้ อดทน เอาตัวรอด ชื่อพีต้า ออกเสียงเหมือนชื่อขนมปัง pita ส่วนเกลก็ลมพายุ แม้แต่พริมโรส เป็นพืชสมุนไพรมีคุณสมบัติเป็นยารักษา และภาษาดอกไม้แปลว่า I can't live without you; early youth; young love แค่ชื่อก็สื่อถึงบุคลิกและบทบาทในเรื่องหมดเลย ยิ่งอ่านทวนที่บอกว่า ฉากเปิดเรื่องคือแคทนิสเอื้อมมือมาไขว่คว้าหาไออุ่นจากตัวพริม กลับพบแต่ความว่างเปล่า บทเริ่มเป็นลางบอกเหตุถึงตอนจบ ยิ่งซึ้งสะเทือนใจ


โดยรวม เราชอบอ่านรวมบทความเกี่ยวกับ Hunger Games เล่มนี้มาก แต่พออ่านจบแล้วก็คิดว่า มันยังไม่จุใจอยู่ดี แถมดูราคาที่แพงกว่าหนังสือต้นเรื่องซะอีก ราคาเล่มเดียวซื้อ Hunger Games กับ Catching Fire ได้สองเล่ม เลยรู้สึกว่า เล่มนี้ยังไม่คุ้มค่าเงินเท่าไหร่ เล่ม The Girl Who Was on Fire นี้เป็น Unauthorized ก็ยังขาดหลายอย่าง เล่มบาง รูปประกอบก็ไม่มีสักรูป อยากให้มีแบบ The Official Illustrated Guide แบบเรื่อง Twilight บ้างจัง เล่มนั้นหนังสือสวยมากไปแอบเปิดมา แต่เล่มนี้มันก็ช่วยแก้ขัด ตอบสนองความคิดถึง Hunger Games ล่ะนะ ตอนนี้กำลังค่อยๆ อ่านทวนเรื่องชุดนี้ใหม่อีก ค่อยๆ ดื่มด่ำกับรายละเอียด ยิ่งอ่านก็ยิ่งชอบ แต่ถ้าเป็นได้ อยากล้างความทรงจำ แล้วอ่านเรื่องนี้ใหม่อีกทีเหมือนอ่านเป็นครั้งแรกจัง อยากสัมผัสความรู้สึกตกหลุมรักเรื่องนี้ครั้งแรกอีกที

เกาะข่าวหนัง Hunger Games


เกล | แคทนิส | พีต้า

ตอนนี้ กิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของเราเวลาเข้าเน็ต คือเช็คข่าวหนัง Hunger Games (และ Millennium Trilogy ด้วย นางเอกไฟแรงทั้งคู่ แคทนิส The Girl Who Was on Fire กับ ลิสเบ็ธ The Girl Who Played with Fire) ช่วงนี้มีข่าวออกมาเกือบทุกวันเลย ได้ตัวนักแสดงหลักแล้ว พอประกาศชื่อมา เสียงวิจารณ์แฟนก็กระหึ่มเหมือนกัน มีคนบอก นางเอกไม่เหมาะ แก่ไป แคทนิสอายุ 16 ต้องหน้าเด็กกว่านี้ ผมสีเข้ม ผิวสีมะกอก ส่วนพีต้าก็ต้องผมบลอนด์สิ ฮ่าฮ่า ก็ขำๆ แฟน บทดังๆ ที่มาจากหนังสือก็อย่างนี้แหละค่ะ แฟนๆ มีภาพในใจตัวเองกันอยู่แล้ว เรื่องหน้าตาเราไม่ค่อยซีเรียส สีผมเดี๋ยวเค้าก็ย้อม เล่นให้เก่งแล้วกัน แต่ Jennifer Lawrence เคยเข้าชิงออสการ์ (Winter's Bone) น่าจะมีฝีมือพอตัว เสียงแฟนโวยวายผ่านเน็ตดังจน ผู้กำกับ Gary Ross กับ Suzanne Collins ที่ไปช่วยคัดตัว ต้องออกมาช่วยพูดให้ บอกแคทนิสต้องดูเป็นผู้ใหญ่กว่าอายุ เพราะแบกรับภาระครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก บอกทดสอบหน้ากล้องเล่นดีมาก อย่างโน้นอย่างนี้ ประมาณว่าอวยเลยล่ะ เอ้า เชื่อใจคนแต่งแล้วกัน คนแต่งบอกเหมาะก็เหมาะ แต่ลดน้ำหนักหน่อยก็ดีนะ สัดส่วนดีขนาดนี้เดี๋ยวจะไม่สมบทคนอดมื้อกินมื้อ

ช่วงนี้ประกาศนักแสดงสมทบออกมาเรื่อยๆ ยังไม่เริ่มเปิดกล้องเลย แต่มีกำหนดฉายแล้ว 23 March 2012 จดไว้เลย ฝรั่งทำงานกันมืออาชีพจริงๆ วางแผนล่วงหน้าดีมาก

ฉากที่ Suzanne Collins บอกว่า ในหนังต้องมี



I have to see the fire. I have to see the bloodbath at the Cornucopia. I have to see Rue’s death. There’s a couple of the cave scenes with Peeta and Katniss.

อยากดูจังเลย แต่เห็นว่าฉากตอนเด็กของแคทนิสกับพีต้าเรื่องขนมปัง จะไม่มีในหนัง แถมอาจมีเปลี่ยนเรื่องให้เกลมาเมืองหลวงอีก

ไม่รู้จะออกมาเป็นไง แต่อยากดู อยากดูมากๆ เลย

Update 14 พ.ค.
ได้ดู Winter's Bone แล้ว หนังน่าเบื่อมาก ดูไม่สนุกอย่างแรง ดิบๆ ไงไม่รู้ ฉากแล่กระรอกนี่ อี๋~ ต้องยกมือบังตา แต่เรื่องนี้ดูเพื่อดูฝีมือนางเอกอย่างเดียวเลย ดูจบแล้วต้องมาร่วมด้วยช่วยอวย Jennifer Lawrence แสดงดีมาก บทเด็กสาวที่ต้องรับภาระครอบครัว คอยดูแลแม่และน้องๆ การแสดงออกทางสีหน้าอารมณ์ ความกดดันที่ต้องแบกรับ ความหวั่นไหวเปราะบางในใจ กับความมุ่งมั่นเข้มแข็งไม่ยอมแพ้ เห็นภาพแคทนิสซ้อนทับขึ้นมาเลย บทนางเอกของเราน่าจะหมดห่วงแล้ว

ตอนนี้หนัง The Hunger Games ได้ตัวแสดงเยอะแล้ว พวกเด็กที่เข้าแข่งได้ครบแล้ว เฮย์มิตช์ก็ได้แล้ว เหลือตัวสำคัญแค่ซินน่ากับประธานาธิบดีสโนว์ก็ครบล่ะ

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

Rottweiler Rescue - Ellen O'Connell

คะแนน : 7.5

หมดช่วงชีพจรลงเท้าแล้ว เข้าสู่สถานการณ์ปรกติ กลับมาอ่านหนังสือต่อ เราเป็นคนที่โชคร้ายอย่างหนึ่งคือ ไม่สามารถอ่านหนังสือระหว่างอยู่บนพาหนะได้ บางทีเวลาติดพันจะดื้ออ่าน ก็จะโดนดี ฝืนไปสักพักจะคลื่นไส้ แต่ก็ได้ความโชคดีอย่างอื่นมาแทน คือ เป็นคนหลับง่ายมาก บนรถ บนเครื่องบิน นอนได้ตลอด จนคนอื่นที่นั่งเบื่อนั่งเซ็งอิจฉาเลย

นี่เป็นนิยายเล่มแรกของ Ellen O'Connell เราคลิกซื้อเรื่องนี้มาตอนเพิ่งอ่าน Eyes of Silver, Eyes of Gold จบ กำลังกรี๊ดมากเลยอยากอ่านงานเธอทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้ไม่ใช่โรแมนซ์ เป็นแนวสืบสวน เรื่องของไดแอน เบรนแนน หญิงสาวที่ทำงานเป็นอาสาสมัครให้กลุ่ม Rottweiler Rescue ที่ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือสุนัขพันธุ์รอตไวเลอร์โดยเฉพาะ วันหนึ่งเธอจะพาสุนัขที่เธอรับฝากดูแล ไปหาเจ้าของใหม่ เธอก็พบเจ้าของบ้านเป็นศพ ไดแอนเผชิญหน้าฆาตกรที่สวมหน้ากากสกี สุนัขช่วยให้เธอรอดเงื้อมมือฆาตกรมาได้ แต่แล้วก็มีคนพยายามเอาชีวิตเธอ ตำรวจไม่เชื่อข้อสันนิษฐานของเธอ ไดแอนจึงต้องพยายามสืบหาคนร้ายเองให้ได้

อ่านสนุกดีเรื่อยๆ เพลินๆ ผู้แต่งอยู่ในแวดวงคนเลี้ยงม้า เลี้ยงสุนัข มานานหลายสิบปี ในนิยายของเธอก็เลยมีข้อมูลเรื่องการฝึกสุนัข การแข่งประกวดสุนัข แน่นปึ้กแบบผู้รู้จริง อ่านแล้วรู้สึกดีกับรอตไวเลอร์ขึ้นเยอะนะเนี่ย แต่ก่อนจะนึกถึงพันธุ์นี้แต่ว่าเป็นหมาฆาตกร เวลาบรรยายบุคลิกของเจ้าสี่ขาแต่ละตัวของนางเอก อมยิ้มเลย

ในส่วนของงานสืบสวนไม่มีอะไรมาก ไปเรื่อยๆ สัมภาษณ์คนเพื่อหาข้อมูล เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อนอะไร ฆาตกรโผล่มาเราก็รู้เลย แต่อ่านไม่เบื่อ เนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่อืด เจอลอบทำร้าย ให้เราลุ้นเป็นพักๆ นางเอกมีเหตุมีผล แล้วเป็นธรรมชาติ ที่ต้องมาเป็นนักสืบจำเป็น ไม่ได้จะอวดเก่ง แต่มันมีที่มาที่ไป ถึงอาจจะไม่ถูกใจคอสืบสวนขนานแท้ แต่ก็อ่านเพลินดี เดี๋ยวปีนี้จะมีเล่มต่อออกมาอีกด้วยแฮะ

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

Sing My Name - Ellen O'Connell

คะแนน : 7

โรแมนซ์แนวตะวันตกเรื่องที่สองของ Ellen O'Connell ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องแรกเลย เป็นเหตุการณ์หลังสงครามกลางเมืองจบลง แมทธิว สเลด อดีตทหารฝ่ายใต้ ถูกมั่วจับตัวมาเป็นนักโทษในความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ ถูกคุมตัวมากับขบวนของกองทหารที่กำลังเดินทางสู่ตะวันตก ในขบวนมี ซาร่าห์ แฮมมอนด์ หญิงสาวที่กำลังจะเดินทางไปแต่งงานกับคู่หมั้นนายทหาร รวมอยู่ด้วย ระหว่างทางถูกอินเดียนแดงโจมตี เหลือรอดแค่แมทกับซาร่าห์ แล้วเขากับเธอก็ต้องพยายามหนีเอาตัวรอดมาถึงป้อม

ช่วงต้น 1/3 เรื่องสนุกมากๆ แมทกับซาร่าห์เดินทางหนีอินเดียนแดง และก็ทำความรู้จักกันไปเรื่อยๆ ต้นเรื่องทั้งคู่ยังอายุน้อยอยู่ แค่ยี่สิบต้นๆ ก็ยังไม่ค่อยประสีประสาเท่าไหร่ ขำแมทเหมือนกัน ส่วนใหญ่เห็นพระเอกเชี่ยวชาญโชกโชนเรื่องผู้หญิงมาเยอะ เจอพระเอกแบบไม่ค่อยเป็นก็ตลกน่ารักดี

แต่พอหนีมาถึงป้อมได้แล้ว เจอคู่หมั้นนางเอกเล่นงานซะ อารมณ์เรื่องเปลี่ยนไปเลย สงสารพระเอกนางเอกมากๆ ว้า ไม่ไหว มันแรงไปสำหรับเรา แมทโดนขนาดนั้น เรื่องอื่นที่มีพระเอกต้องพบชะตากรรมเลวร้าย มันมักจะเป็นเรื่องราวย้อนหลัง แต่เรื่องนี้เราเห็นพระเอกจากที่เป็นเด็กหนุ่มสดใสก่อน พอชีวิตพลิกผันก็ยิ่งรู้สึกน่าสะเทือนใจหนัก ช่วงกลางเรื่องรันทดหดหู่เกินไปสำหรับเรา แมทกับซาร่าห์ต้องแยกจากกันนานมากๆ 7-8 ปี

กลับมาเจอกันก็โน่น 2/3 เรื่องแล้ว แมทกลายเป็นพวกมือปืนรับจ้างทำงานคุ้มครอง ช่วงนี้ก็ไม่สนุกอีก เอือมมากๆ เลยเวลาเจอพระเอกที่ผลักไสนางเอก ด้วยเหตุผลว่า ฉันไม่คู่ควรกับเธอหรอก ไปแต่งงานกับคนอื่นเถอะ ชีวิตเธอจะได้ดีกว่าอยู่กับฉัน ไม่ชอบเคสแบบนี้เลยสักนิด เรื่องไหนมาแนวนี้จะเซ็งมาก อย่าดูถูกกันได้มั้ย ไม่ต้องมาตัดสินใจแทนอีกฝ่ายหรอกว่าอะไรดีหรือไม่ดี เขาคิดเองเลือกเองได้ อย่าดูหมิ่นน้ำใจคนที่รัก ซาร่าห์อุตส่าห์อดทนเฝ้ารอพยายามทำทุกอย่างเพื่อแมท จากที่เคยเป็นคุณหนู ถ้าไม่หนักแน่นมั่นคงจริงจะลำบากลำบนกัดฟันสู้ทนมาถึงป่านนี้ได้ไง เห็นแมทงี่เง่าแบบนี้ ขี้เกียจเชียร์เลย อ่านตอนที่แมทเล่นตัวแล้วซาร่าห์คันไม้คันมืออยากยิงสั่งสอน เราก็แอบยุ เออ เอาเลือดง่าวหมอนี่ออกบ้างก็ดีนะ

ถ้าเทียบกับ Eyes of Silver, Eyes of Gold เรื่องนี้มีพล็อตใหญ่กว่า เนื้อเรื่องเยอะกว่ามาก ฉากก็กว้างกว่า เห็นบรรยากาศตะวันตกแนวคาวบอยเต็มที่ และอาจจะพูดได้ว่า เห็นการพัฒนาและการเติบโตของตัวละครมากกว่า แต่เราว่า สำหรับการเป็นนิยายโรแมนซ์ ผู้แต่งพลาดซะแล้วล่ะ ที่ให้ความสำคัญผิดที่ ไปเน้นที่การดำเนินเรื่องจนละเลยเรื่องความสัมพันธ์ของพระ-นาง ยิ่งตอนท้าย ที่แมทไปเคลียร์พวกปัญหาเรื่องไร่ เรื่องที่ดิน คนปล้นวัว พวกนั้น มันไม่ได้โฟกัสเกี่ยวกับตัวพระเอกนางเอกเลย กลายเป็นยืดยาดน่าเบื่อ น่าเสียดายจัง มีตัวละครดีๆ อยู่ เอาไปละลายกับเนื้อเรื่องน้ำๆ จนจืดเลย กลับไปย้อนอ่านตอนสนุกๆ ของ EoS, EoG กรี๊ดคู่คอร์ดกับแอนน์แทนดีกว่า

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

Eyes of Silver, Eyes of Gold - Ellen O'Connell

คะแนน : 8.5


ไปอ่านกระทู้ AAR มาอีก เจอพูดถึงเรื่องนี้แล้วสนใจ เห็นราคา Kindle edition แค่ $2.99 เป็นเรื่องที่นักเขียนเขาทำขายเอง ไม่ผ่านสำนักพิมพ์ ไม่ค่อยได้อ่านแนวตะวันตกเท่าไหร่ เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องบอลล์รูมมาเป็นท้องทุ่งกว้างบ้างก็ดีเหมือนกัน คะแนนรีวิวเรื่องนี้ดีมากเลย ลองซะหน่อย

Eyes of Silver, Eyes of Gold เป็นโรแมนซ์ย้อนยุคที่ใช้ฉากในโคโลราโด ในปี 1885 แอนน์ เวลส์ หญิงสาววัย 28 ปี หนีออกจากบ้าน เพราะถูกพ่อจับขังเพื่อบังคับจะให้แต่งงานไปกับชายแก่คราวพ่อ เธอแอบมาหลบในโรงนาของ คอร์ด เบนเนตต์ ชายหนุ่มลูกครึ่งอินเดียนแดง เมื่อพ่อของเธอยกพวกตามมาเจอแอนน์อยู่กับคอร์ดในบ้าน ก็โกรธมาก บังคับให้ทั้งคู่แต่งงานกัน แล้วซ้อมคอร์ดกะให้ตาย แอนน์ช่วยพยาบาลคอร์ดจนรอด เรื่องร้ายที่เกิดขึ้นกลายเป็นโชคดีของชายหนุ่มหญิงสาวทั้งสอง ทำให้ได้โอกาสมาตั้งต้นชีวิตร่วมกัน

พระเอกนางเอกเรื่องนี้น่ารักมากกกกกกกกก แซมเปิลให้ดูสักฉาก ตอนคอร์ดขอให้แอนน์อยู่กับเขาต่อ แอนน์บอกไม่เอาล่ะ นี่ไม่ใช่การแต่งงานที่แท้จริง
คอร์ด : "ก็ได้ แล้วคุณจะทำยังไงต่อ ตัวคุณกับเงิน 20 ดอลลาร์เนี่ย"
แอนน์ : "เอ่อ ฉันคงไปหาป้าคลาร่าไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นฉันจะหางานทำ ฉันเย็บผ้าได้ดี ทำอาหารเก่ง แล้วคนก็ชอบพูดว่า ฉันมีการศึกษาดีเกินไปมากสำหรับลูกผู้หญิง ฉันอาจสอนหนังสือก็ได้"
คอร์ด : "เยี่ยม พอเงินคุณจวนหมดแล้วกำลังจะยอมขายตัวหากิน ช่วยเหลือเงินไว้พอเป็นค่าโทรเลขส่งมาบอกผมนะ ผมจะไปเป็นลูกค้าคนแรก"
แอนน์ : "ฉันนึกแล้วเชียวว่าคุณคิดอยากจะได้แค่นี้ เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องเดียวกับการแต่งงานนะ"
คอร์ด : "มันอาจจะเป็นส่วนสำคัญของการแต่งงานมากกว่าที่คุณคิดละกัน"
แอนน์ : "ขอเวลาฉันคิดดูก่อนได้มั้ยล่ะ คำขอแต่งงานโรแมนติกซะขนาดนี้"

คำไม่เป๊ะเท่าไหร่นะคะ แต่อารมณ์ประมาณนี้ล่ะ พระเอกเรื่องนี้เป็นพระเอกอัลฟ่า แต่แสนงอน ช่างใจน้อย (มีอะไรหน่อยก็เดินหนีนางเอกล่ะ) แอบขี้หึง (แต่เห็นไม่ชัด เพราะไม่ค่อยมีชนวน) และปากแข็งสุดๆ เลย รักตั้งนานแล้วไม่ยอมสารภาพความในใจซะที แต่เขาอ่อนโยนกับเธอมากๆ ตั้งแต่ต้น มีนิยายกี่เรื่องล่ะที่เราจะได้อ่านฉากที่นางเอกนอนปวดประจำเดือน แล้วพระเอกชงชาอุ่นมาให้ เอาฝ่ามือทาบหน้าท้องแล้วประคองกอดจนหลับ หวานซะ

ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอกค่อยๆ พัฒนา แอนน์เป็นนางเอกที่ดีมากเลย จริงใจ ตรงไปตรงมา เวลามีปัญหาเกือบจะเข้าใจผิดกัน เธอก็เปิดอกเคลียร์กันตรงๆ ไม่งั้นคอร์ดที่มีปมด้อยจากความเป็นเลือดผสมอาจไม่อ่อนเร็วเท่านี้ ปัญหาขัดแย้งส่วนใหญ่ของเรื่อง เกิดจากครอบครัวพระเอกกับนางเอก พวกพี่ชายต่างแม่ของพระเอกมีอคติแบบไร้เหตุผลกับคอร์ดไปหน่อย ส่วนพ่อของแอนน์ก็เลวนรกแตกแบบไม่มีคำอธิบาย แต่ถ้าไม่คิดจริงจัง ก็อ่านเนื้อเรื่องได้สนุกดี ไม่มีเบื่อเลย อ่านแค่ตอนพระเอกนางเอกอยู่ด้วยกันก็คุ้มแล้ว มีฉากดีๆ น่าอ่านเยอะตลอดเล่ม จนกระทั่งถึงตอนสุดท้าย

คอร์ด : "รู้มั้ย แอนนี่ นานมาแล้วมีผู้เฒ่าคนหนึ่งบอกผมว่า ความสวยไม่มีความหมายกับผู้หญิงเท่าไหร่หรอก มันค่อยๆ เลือนหายไปกับวัย เขาบอกว่า ผู้หญิงบางคนมีดีกว่านั้น พวกเธอมีรัศมีพิเศษที่จะคงอยู่ไปตลอดชีวิต มีแต่จะยิ่งเจิดจรัสขึ้นเรื่อยๆ คุณเป็นอย่างนั้นแหละ คุณเปล่งประกายจริงๆ"
แอนน์ : "..."
คอร์ด : "อย่าร้องไห้สิ"
แอนน์ : "ไม่ได้ร้อง"

ดูปากคอพระเอกตอนข้างบนเทียบกับคำพูดคำจาตอนสุดท้ายสิ จากฉากแรกจนถึงฉากสุดท้ายของนิยายเรื่องนี้ การอ่านเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นความเพลิดเพลินใจจริงๆ

วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 22 ลูกศรพิษ - โยโคมิโซะ เซชิ

คะแนน : 7.5


รอบนี้ยืมมาได้เล่มเดียว อีกเล่มยังไม่ได้ เล่มนี้บางจ๋อยเลย ไม่ถึง 200 หน้า มีตอนสั้นๆ 2 ตอนในเล่ม ดีที่ไม่ดาร์คมากนัก ที่จริงอ่านจบแล้วไม่ค่อยมีอะไรให้อยากเขียนถึง แต่เพราะมีคนถามว่าตอนไหนสนุกบ้างแล้วตอบเขาไม่ค่อยได้ เพราะลืมความรู้สึกตอนอ่านเล่มต้นๆ ไปแล้ว ก็เลยคิดว่าต้องจดไว้ซะหน่อย
  • ลูกศรพิษ มีจดหมายแบล็คเมล์ส่งไปตามบ้านต่างๆ ในย่านคนรวย แต่พอเอาเงินไปให้ก็ไม่มีคนมารับ แต่แล้วก็เกิดคดีฆาตกรรมโดยเหยื่อถูกลูกศรปักที่รอยสักกลางหลัง ตอนนี้ก็สนุกใช้ได้ แต่คินดะอิจิฉบับนิยายนี่ ชอบบรรยายผู้หญิงสวยๆ ให้ตอนหลังดูไม่ได้อยู่เรื่อยเลย
  • ปีกพระกาฬ ตอนนี้ก็โอเค สั้นๆ แต่ผูกเรื่องใช้ได้ จดหมายลูกโซ่ไปรษณียบัตรสีดำ

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

Dearly Beloved - Mary Jo Putney

คะแนน : 6

เรายังเข็ดขยาดกับ MJP อยู่เลย ถึงผ่านมาสองปีแล้ว เล่มนี้ก็ไม่ตั้งใจ แต่ที่เอามาอ่าน เพราะเห็นกระทู้คุยถึงนิยายเรื่องนี้ในเว็บบอร์ด AAR เห็นเค้าคุยกันแล้วก็สนใจ ไปอ่านรีวิวต่อใน Amazon ความเห็นแตกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ถ้าชอบก็ชอบมาก เกลียดก็เกลียดไปเลย ตรงกลางไม่ค่อยมี ทั้งที่คิดว่าเราน่าจะเข้ากลุ่มหลังแน่เลย แต่มันก็ยังทำให้เราอยากรู้เรื่องนี้อยู่ดี นักเขียนที่เขียนแล้วทำให้คนอ่านใส่อารมณ์เข้าไปกับเรื่องได้ขนาดนี้ ต้องนับถือฝีมือนะ ตอนแรกกะเปิดเล่นๆ อ่านไปบทนึงแล้วมันอยากรู้ต่อ ก็เลยเถิดจนอ่านจบเลย

จะไม่พูดถึงเรื่องย่อ จะพูดแต่ความรู้สึกที่ได้จากการอ่าน แต่มันจะปนสปอยล์ทั้งเรื่องเลย ระวังนะคะ

  • ที่จริงไม่ชอบบทแรก พระเอกข่มขืนเด็กอายุ 15 ถึงจะเป็นภรรยาตัวเองก็เหอะ แต่เพราะอ่านจากที่เขาเล่ามาแล้ว ทำใจไว้แล้ว ประเด็นนี้ก็ยอมผ่าน เพราะมันจะนำไปสู่เนื้อเรื่องของทั้งเล่ม
  • ตอนกลางเรื่อง เรางงกับนางเอก เจตนาไดอาน่าคืออะไรเนี่ย ปลอมตัวมาเป็นนางบำเรอพระเอกด้วยจุดประสงค์อะไร (ในเรื่อง คนแต่งไม่ได้บอกหรอกว่านางเอกเป็นใคร แต่เราว่าคนอ่านทุกคนก็น่าจะรู้นะ) พอไม่แน่ใจในความคิดนางเอก ก็ไม่อินด้วย รู้สึกว่าพฤติกรรมนางเอกแปลกๆ
  • เรารับจูเลียต นางเอก Silk and Secrets ไม่ได้ มาเทียบกัน เรารับเจอร์เวส พระเอกเรื่องนี้ไม่ได้ หนักกว่า 10 เท่า ตอนอ่านไปบางทีก็บ่น พระเอกทำไม เ-ชี่-ย อย่างนี้วะ ตอนนั้นจะอ้างว่าเมาว่าโกรธ อะไรก็ว่าไป แต่ถ้ารู้สึกผิดบ้าง หลังจากนั้นไม่คิดจะสำนึกไถ่โทษเลยเหรอ เด็กสาวที่ตัวเองทิ้งไว้เป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้ ไม่เคยสนใจไยดีถามข่าวคราวเกือบสิบปี แค่ให้เงินนี่มันไม่พอนะ
  • พอรู้ความจริง เจอร์เวสก็โกรธไดอาน่าเป็นฟืนเป็นไฟ นิยายของ MJP นี่ทำผิดกฎของนิยายโรแมนซ์ทั่วไปนะ คนทำผิดไม่ยอมเป็นฝ่ายง้อ ไดอาน่าต้องเป็นฝ่ายตามมาอ้อนวอน ในเรื่องเจ้าตัวก็พูดเอง "ทำไมฉันต้องมาขอโทษคุณ ทั้งที่คุณเป็นฝ่ายทำผิดต่อฉันด้วย" เออ ก็น่านน่ะสิ คนอ่านก็สงสัยนะ เจอร์เวสโคตรเลว กับลูกยังไม่ค่อยใจอ่อนเลย
  • พอเฉลยความลับดำมืดในชีวิตพระเอก อ้อ ก็เข้าใจล่ะ งั้นที่ผ่านมาก็พอมีเหตุผล แต่สายไปแล้ว เข้าใจไม่ได้แปลว่ารับได้ มันมีพระเอกคนอื่นที่เจอเรื่องเลวร้ายมาแต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวแย่ขนาดนี้ เราอภัยให้ผู้ชายคนนี้ไม่ได้ ความจริงปล่อยให้เขาจมอยู่กับนรกส่วนตัวของตัวเองไปเถอะ ไม่คู่ควรได้ตอนจบ Happy Ending เชื่อไม่ลงหรอก ความรักจะมาเยียวยาอะไรคนแบบนี้ได้
  • เราว่า รอสส์ Silk and Secrets ไม่ค่อยมีตาแล้ว ไดอาน่านี่เธอเป็นนางเอกพรมเช็ดเท้า ชอบให้คนเหยียบย่ำจริงๆ เลย ไม่มีความนับถือตัวเองแม้แต่น้อย ผู้หญิงสมัยก่อนนี่ต้องจำยอม จำทนขนาดนี้เลย โดนทำร้ายยังต้องแก้ตัวแทนให้คนที่มาทำร้ายตัวเอง เพราะถ้าไม่ทนทำใจ ก็จะคับแค้นใจจนมีความสุขไม่ได้ เพราะลูกน่ารัก แสดงว่าพ่อมันคงไม่เลวหมดหรอก ใช้คำว่ารักเป็นเครื่องปลอบใจให้จำใจทนได้ก็ยังดี เฮ้อ~~~~ น่าสงสารมากๆ เลย ยุคอดีตที่ผู้หญิงไม่มีทางเลือก เห็นใจจริงๆ นะไม่ได้ประชด

จริงๆ เราว่าเรื่องนี้แย่กว่าเรื่องก่อนที่อ่านอีก แต่เพราะอ่านแบบเตรียมตัวเตรียมใจมีอุปกรณ์นิรภัยไว้เต็มที่ เลยไม่ได้รับบาดเจ็บทางอารมณ์เท่าไหร่ เรากับ MJP นี่ชะตายังไม่ต้องกันจริงๆ แต่อาจเพราะว่า ไปหยิบมาอ่านแต่ไอ้เรื่องที่มันมีประเด็น ถ้าจะให้วัดได้แฟร์กว่านี้ สงสัยต้องไปหาเรื่องที่คนชอบกันมากที่สุดของเธออ่าน แต่คงยังไม่ใช่ตอนนี้

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

สามโลงศพ - จอห์น ดิ๊กสัน คาร์

คะแนน : 8

เล่มนี้ได้มาจากสัปดาห์หนังสือ ซื้อแบบใจง่ายมาก เดินผ่านเจอคนที่บูธสำนักพิมพ์รหัสคดียุนิดเดียว "นิยายสุดยอดห้องปิดตาย ได้รับคำแนะนำจากคนวาดโคนัน" ก็ควักตังค์แล้ว ยังไม่ได้พลิกดูข้างในเลย

นี่ก็เป็นนิยายนักสืบสมัยเก่า ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ตัวเอกนักสืบ กีเดี้ยน เฟลล์ เป็นดอกเตอร์ตัวอ้วนใหญ่ เดินถือไม้เท้า หายใจฟืดฟาด ถึงรูปร่างจะไม่เท่ แต่มันสมองปราดเปรื่องมาก และก็สมคำโฆษณา การฆาตกรรมของนิยายเรื่องนี้ เป็นคดีในห้องปิดตายที่สมบูรณ์แบบมาก ศพแรกเกิดในห้องปิด ที่มีคนนั่งเฝ้ามองประตูฝั่งตรงข้ามตลอด ศพที่สองเกิดกลางถนน ที่มีพยานเฝ้ามองอยู่ทั้งหัวและท้าย

ในเล่มนี้ ผู้แต่งเล่นกับผู้อ่านตลอดเล่ม ทำได้ดีมาก สร้างเงื่อนงำแบบที่น่าฉงนว่ามันทำได้อย่างไร ถึงแม้ยังรีบเฉลยไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของเล่ม ผู้แต่งก็ไม่ปล่อยให้คนอ่านเซ็งแม้แต่น้อย แต่ล่อหลอกดึงความสนใจของเราตลอดเวลา ในระหว่างนั้น จะเห็นอัจฉริยภาพของ ดร. เฟลล์ ที่เห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในสถานที่เกิดเหตุ ก็สามารถนิรนัยเรื่องได้ และรุกไล่ตัวละครในเรื่อง แบบอ่านแล้วต้องทึ่งเป็นระยะๆ โดนคนแต่งหลอกไปหลอกมา ตอนแรกก็พาเดาไปทาง ไปสักพักก็ปล่อยหลักฐานหรือพยานใหม่พาไปอีกทาง รู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอกอ่ะ สนุกดีแฮะ พอถึงเฉลยท้ายเรื่อง อืมม์ ก็ไม่ผิดหวัง ไม่ได้เฉลยแล้วรู้สึกงี่เง่าอย่างบางอุบายในเรื่องอื่น

บทที่ 17 ที่คนที่บูธย้ำว่า ต้องอ่านให้ได้นะคะ เลคเชอร์ว่าด้วยเรื่องห้องปิดตายแบบต่างๆ ก็ดีมากจริงค่ะ อ่านบทนี้แล้ว ก็คอยนึกถึงอุบายห้องปิดตายต่างๆ นานาที่เห็นกันในเรื่องนักสืบ ก็ไม่พ้นวิธีการพวกนี้จริงๆ นะ เวิร์กๆ เรื่องอุบายมันซับซ้อนมาก เดาไม่ถูก แต่เราเดาตัวฆาตกรได้เลาๆ นะ



เพราะคำแปลภาษาไทย brother ที่เลี่ยงใช้ว่าพี่น้อง มันทำให้เราผิดสังเกตล่ะ

เพราะเล่มนี้อ่านแปล ตอนเล่นปริศนาคำพูดผู้ตาย ทำให้สงสัยอยากอ่านคำในต้นฉบับขึ้นมา แต่เล่มนี้แปลภาษาไทยดีนะคะ มีเชิงอรรถอธิบายบอกตั้งเยอะ ถ้าอ่านต้นฉบับเองคงผ่านเลยเกร็ดความรู้พวกนั้นไปหมดแน่เลย