วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

Room - Emma Donoghue

คะแนน : 7.5

เห็นเรื่องนี้ติดอยู่ในอันดับเบสต์เซลเลอร์ของร้านคิโนะฯ อยู่เมื่อปลายปี เป็นหนังสือเข้ารอบสุดท้ายรางวัล Man Booker 2010 ดูน่าสนใจ แต่มาคิดอีกที ใกล้สิ้นปีไม่อยากอ่านเรื่องที่จะทำให้ไม่สบายใจข้ามปี เลยมาอ่านตอนนี้แทน ช่วงนี้ชาร์จพลัง HP กับ MP มาเต็มๆ อยู่ น่าจะพอรับไหว ทำไมต้องเตรียมตัวเตรียมใจก่อนอ่านขนาดนี้ จำข่าวต่างประเทศที่ดังครึกโครมสะเทือนใจคนทั่วโลก เรื่องพ่อที่จับลูกสาวขังไว้ในห้องใต้ดินเป็นสิบๆ ปีได้มั้ยล่ะ หนังสือเล่มนี้น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวนั้น

Room เป็นเรื่องราวที่เล่าผ่านมุมมองของแจ็ค เด็กชายวัย 5 ขวบ ที่โลกทั้งโลกของเขาคือห้องขนาด 11x11 ฟุต เขาอาศัยอยู่ในห้องกับแม่สองคน ในความคิดของเขา โลกภายนอกห้องคือห้วงอวกาศที่พวกเขาไม่อาจออกไปสัมผัส ภาพที่เห็นในทีวีแต่ละช่องก็ไม่ใช่ของจริง สิ่งของรอบตัว ผนัง โต๊ะ พรม หม้อ ช้อน โถส้วม ทุกอย่างเกือบจะเป็นบุคคลสำหรับแจ็คไปทั้งหมด

ว่าที่จริงไม่น่าจะมีเด็ก 5 ขวบเล่าเรื่องเก่งขนาดนี้ แต่สำนวนบรรยายแทนเด็กก็เขียนได้เป็นธรรมชาติ เหมือนออกมาจากความคิดเด็กจริง มีการใช้คำผิดแบบเด็ก แต่ศัพท์ของแจ็คนี่บางทีแปลก อย่างเช่น scave กว่าจะเข้าใจว่า มันมาจาก scared + brave นี่ต้องนึกอยู่พักใหญ่ แต่อ่านแล้วได้อารมณ์เหมือนคุยกับเด็ก 5 ขวบดีเหมือนกัน แบบบางทีผู้ใหญ่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง พอให้เขาอธิบายก็ฟังแล้วบางทีขำ บางทีเศร้า อ่านการมองโลกของเขาทำให้มุมมองที่เรามีต่อโลกเปลี่ยนไปด้วย ส่วนกลวิธีการเขียนยาวต่อกันไปโดยไม่แบ่งเป็นบทๆ ตอนอ่านมันให้ความรู้สึกกดดัน อ่านไปเรื่อยๆ เหมือนค่อยๆ โดนบีบเข้ามา อารมณ์เข้ากับเนื้อเรื่องพอดี

การเลือก POV ในการเล่าเรื่องแบบนี้ช่างเป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์สุดยอด เหตุการณ์ในเรื่องที่น่าเศร้าหดหู่สะเทือนขวัญกลับถูกนำมาเล่าโดยผ่านดวงตาและความคิดไร้เดียงสาของเด็ก การบรรยายความเป็นไปในโลกใบเล็กของแจ็คเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าทึ่ง ถ้อยคำที่แจ็คเล่าออกมาไม่มีตรงไหนทารุณเลย หลายสิ่งหลายอย่างถูกเล่าออกมาด้วยอารมณ์สนุกของเด็ก อยากรู้อยากเห็นกับเรื่องราวรอบตัว และมีแม่คอยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ฟัง โดยปิดบังไม่ให้รับรู้ความจริงอันโหดร้าย แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เราเกือบอ่านไม่ผ่าน 10% แรกของหนังสือแล้ว เพราะหลายครั้งที่ประโยคบอกเล่าแสนซื่อของแจ็ค มันสะท้อนสภาพชีวิตอันสุดแสนรันทดในนั้นให้พวกเราได้รับรู้แจ่มชัดเหลือเกิน



อ่านตอนที่แจ็คเล่าว่า เขาต้องเข้าไปนอนในตู้เสื้อผ้าตอนกลางคืน แม่ห้ามไม่ให้เขาออกมา และห้ามส่งเสียงเป็นอันขาด เพราะตาแก่นิคจะมา ได้ยินเสียงตาแก่นิคทำเตียงลั่น แจ็คนอนนับจำนวนครั้งของเสียงเอี๊ยดอ๊าดไปเรื่อยๆ เราก็แทบหยุดอ่านแล้ว คืนนี้ฉันจะนอนฝันร้ายมั้ย

บางทีอ่านเรื่องที่พวกสัตว์นรกในคราบคนกระทำแล้วนี่ ทำให้ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของเราสั่นคลอน ในทางชีวะฉันเป็นสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์เดียวกับไอ้พวกนี้เหรอ นี่ขนาดหนังสือเล่มนี้ลดความเลวร้ายลงมาจากคดีที่เกิดขึ้นจริงแล้วด้วยซ้ำนะ ก็ยังเกือบทำใจไม่ได้แน่ะ บ่นตัวเองในใจว่า อ่านข่าวประเภทนี้ในโลกจริงโหดร้ายไม่พอหรือไง ทำไมต้องทรมานตัวเองด้วยการอ่านเรื่องแบบนี้ในเวลาพักผ่อน การอ่านนิยายนี่เพื่อ escape นะ แต่ก็พยายามปลอบตัวเองให้แข็งใจอ่านต่อจนได้ ดีที่หลังจากนั้นไม่นาน เนื้อเรื่องก็เข้าสู่ช่วงของการเอาตัวรอดจากห้อง ตอนนี้ลุ้นมาก เขียนได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สถานการณ์หลังออกจากห้องได้ แจ็คต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ และความสำนึกถึงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใหม่หมด นิยายเรื่องนี้เล่นกับจิตวิทยาของมนุษย์เยอะมาก อ่านช่วงนี้แล้ว เรารู้สึกสำนึกตัวเองนิดหน่อยว่า เรารุนแรงกับอาริมะ โซอิจิโร่ จาก "เรื่องธรรมดาของเธอกับฉัน" เกินไปรึเปล่า ลืมนึกไปว่า ชีวิตและประสบการณ์ช่วงแรกเกิดถึงรู้ความ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของมนุษย์ แบบที่หนังสือชื่อว่า "กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว" บอก

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วต้องคิดเยอะจริงๆ หลายเรื่องในชีวิตมนุษย์ที่เราคิดว่าธรรมดา มันก็เป็นของมันอย่างนี้ แต่จริงๆ มันไม่ได้ธรรมดานะ มันต้องผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ คิดได้เยอะมาก ถ้าไม่โตมาแบบนี้ ก็คงไม่เป็นแบบนั้น ถ้าขาดอย่างนี้ แล้วจะส่งผลยังไง ไม่ใช่แค่คนลูกเท่านั้น แต่ผลกระทบทางจิตใจของคนแม่ก็มากมายมหาศาลด้วย ในหนังสือไม่ได้เอ่ยชื่อแม่ เพราะสำหรับแจ็ค เธอคือ Ma คำเดียวเท่านั้น คนเดียวที่เทียบเท่าโลกสำหรับเขา ตอนอ่านฉากที่พิธีกรโทรทัศน์สัมภาษณ์แม่ สงสารหัวอกผู้เสียหายที่เป็นข่าวขึ้นมาเลย พอเป็นข่าวแล้ว นอกจากการถูกย้ำเตือนถึงสิ่งที่สะเทือนใจมากๆ แล้ว ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นจะถูกซักไซ้อย่างละเอียด ตอนนั้นทำไมถึงทำอย่างนี้ แล้วทำไมไม่ทำอย่างนั้นล่ะ บีบคั้นมาก

ลงท้ายดื้อๆ แล้วกันว่า Room เป็นเรื่องที่เขียนดีมาก ไอเดียและเทคนิคการเขียนเลิศ แต่เราคงไม่กล้าเอามาอ่านซ้ำแน่ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น