วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

Ender's Game - Orson Scott Card

ไม่สบายตั้งแต่ต้นปีเลย เจ็บคอ ปวดหัว ตัวร้อน หลายวันแล้วยังไม่หายง่ายๆ ด้วย อยากนอนท่าเดียว แย่จัง เสาร์-อาทิตย์นี้ก็ต้องทำงานอีก เมื่อไหร่จะได้พักเนี่ย

Ender's Game (Ender Series #1)
คะแนน : 8

เราอาจเหมือนเพิ่งออกจากหลังเขา ที่มารู้จักเรื่อง Ender's Game เอาป่านนี้ นิยายที่คว้าได้ทั้งรางวัล Nebula 1985 และ Hugo 1986 และถือเป็นนิยายไซไฟคลาสสิคเล่มหนึ่ง ภาษาไทยก็ออกมาหลายปีแล้ว คือ เราชอบอ่าน Isaac Asimov แต่อ่าน Arthur C. Clark ไปได้เล่มเดียว เป็นสาวกที่บูชา Star Wars แต่ก็ไม่เก็ทกับ Star Trek ก็เลยคิดเอาเองว่า คงไม่ได้ชอบที่มันเป็นไซไฟหรอก แต่ชอบความแฟนตาซีของมันต่างหาก ก็เลยไม่ค่อยได้สนใจไซไฟเท่าไหร่ แต่หลังจากที่เอา "จุดดับแห่งนิรันดร์" มาอ่านใหม่อีกรอบแล้ว ก็ทำให้อยากลองอ่านเรื่องอื่นๆ ดูบ้าง

Ender's Game เล่มแรกในชุด Ender Wiggin เริ่มต้นเรื่องราวในอนาคต โลกถูกรุกรานจากบั๊กเกอร์ สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มีลักษณะคล้ายแมลง ตัวเอกคือเอนเดอร์ วิกกิ้น เด็กชายอัจฉริยะวัย 6 ขวบ ที่ถูกเลือกให้มาเข้าโรงเรียนแบทเทิลสกูล ต้องจากครอบครัวไปฝึกในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานีอวกาศนอกโลก นอกจากการฝึกยุทธวิธีแล้ว เขาก็ต้องเรียนรู้การปรับตัว และปรับสภาพจิตใจเพื่อรับภาระอันหนักหนาสาหัส เอนเดอร์ต้องเข้าแข่งเกมต่อสู้ โดยเข้าร่วมกับทีม และก็วางแผนเอาชนะทีมอื่นๆ เขาไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงอายุ 12 ปี ก็ถูกเลื่อนชั้นไปเข้าโรงเรียนผู้บัญชาการ เพื่อฝึกให้เขาเป็นผู้บังคับบัญชากองยาน พร้อมการเดินทางสู่แนวหน้าของสงคราม ที่จะชี้ชะตาอนาคตของมวลมนุษยชาติ

เนื้อเรื่องเล่มแรกก็สนุกดี ตอนแข่งเกม เอนเดอร์เคลียร์ด่านไปเรื่อยๆ บางทีบรรยากาศก็เหมือนวิดีโอเกมสงครามอวกาศ แต่ต้องอ่านมาจนถึงฉากที่ปีเตอร์กับวาเลนไทน์ พี่ชายพี่สาวของเอนเดอร์ที่อยู่บนโลก ร่วมมือกันวางแผนเขียนบทความการเมืองเพื่อกุมอำนาจของโลก นั่นแหละที่เราเริ่มรู้สึกว่านี่ไม่ใช่นิยายไซไฟแอกชั่นธรรมดาซะแล้ว แต่อ่านแล้วต่อให้ไม่รู้ปีที่พิมพ์ก็ยังรู้เลยว่านิยายเรื่องนี้เก่า เพราะยังพูดประเด็นเรื่องรัสเซียกับสนธิสัญญาวอร์ซอว์อยู่เลย เนื้อเรื่องน่าติดตามอ่านสนุก แต่เดาเนื้อเรื่องตอนเอนเดอร์เล่นซิมูเลชั่นบังคับยานได้นะ ไม่ยากเท่าไหร่เห็นมาแต่ไกล ตอนจบที่กล่าวถึงหนังสือที่ Speaker for the Dead แต่ง ก็ทำให้รู้สึกว่า ซีรีส์นี้น่าจะมีอะไรลึกซึ้งรออยู่ข้างหน้า


Speaker for the Dead (Ender Series #2)

คะแนน : 7.5

นิยายเล่มสองที่ต่อจาก Ender's Game ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสมัยนั้น โดยการเบิ้ลรางวัล Hugo และรางวัล Nebula ซ้ำได้อีกครั้งเป็นปีที่สองติดต่อกัน เริ่มต้นเล่มด้วยคำนำยาวเหยียดจากผู้แต่ง อธิบายที่มาที่ไปจากเล่มก่อนจนถึงเล่มนี้ มีจุดหนึ่งที่ Orson Scott Card พูดเองว่า มีนิยายจำนวนมากเลือกตัวเอกเป็นเด็ก ไม่ได้แปลว่าตั้งใจเขียนนิยายสำหรับเด็กเสมอไป แต่เพราะพระเอกที่อายุน้อยจะยังมีความหวั่นไหวไม่แน่ใจในจิตใจสูงกว่า ซึ่งทำให้แต่งเรื่องได้ง่าย และเปิดโอกาสให้มีทางเลือกมากมายแก่ตัวละคร ต่างจากตัวละครที่โตเป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์แล้ว เป็นการยืนยันสิ่งที่เราคิดตอนอ่านเล่มแรก เพราะเราอ่านแล้วไม่เคยเชื่อว่า เอนเดอร์เป็นเด็ก 6 ขวบเลย IQ อาจจะเป็นได้ แต่ EQ ไม่น่าเชื่อ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับประเด็นนี้ เพราะถึงไม่บอกก็เข้าใจว่า ไม่ได้ตั้งใจแต่งบุคลิกของเด็กให้สมจริงอยู่แล้ว

ในเล่มนี้ เวลาผ่านมา 3,000 ปีจากเล่มก่อน แต่เอนเดอร์ยังมีชีวิตอยู่ เป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 35 ปี สืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตส่วนใหญ่เดินทางอยู่ในอวกาศ คงเป็นตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของเวลา ที่ชอบยกตัวอย่างว่า ฝาแฝดคนที่อยู่บนโลกจะแก่ชราลงไปตามเวลาที่ผ่านไปปกติ แต่ฝาแฝดที่กลับมาจากการเดินทางในอวกาศยังหนุ่มอยู่ เดี๋ยวคงต้องไปหาข้อมูลเรื่องนี้ซะหน่อยว่า ตามทฤษฎีที่ว่าอยู่ได้ถึง 3,000 ปีจริงเหรอเนี่ย ใช้ชีวิตธรรมดาไม่ต้องเข้าแคปซูลด้วย

อารมณ์ในการอ่านเล่มแรกกับเล่มนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง นอกจากการที่เอนเดอร์โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เนื้อเรื่องก็เปลี่ยนแนวไปด้วย ไม่มีสงครามต่อสู้แล้ว แต่กล่าวถึงการค้นพบดาวลูซิตาเนีย ที่มีสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาเผ่าพันธุ์หนึ่งที่เรียกกันว่าพิกกี้ อารยธรรมของพิกกี้ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น มนุษย์จึงพยายามศึกษาและทำความเข้าใจกับพิกกี้ และเอนเดอร์จะได้มีโอกาสล้างบาป โดยการปกป้องไม่ให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างดาวเผ่านี้

ครึ่งเล่มแรกอ่านสนุกมาก ดีกว่าเล่มแรกซะอีก ได้เห็นจินตนาการถึงโลกอนาคตที่มนุษย์ขยายขอบเขตไปครอบครองอาณานิคมพิภพต่างๆ นับร้อยดารา การศึกษาสิ่งมีชีวิตต่างดาว และตัวละครชื่อเจน AI คอมพิวเตอร์ที่อุบัติขึ้นจากเครือข่ายการสื่อสารแอนซิเบิล ก็สร้างมาได้น่าสนใจมาก แต่พอหลังจากกลางเรื่องที่เฉลยเรื่องพิกกี้ และเอนเดอร์แสดงวจนะถึงผู้วายชนม์แล้ว เนื้อเรื่องก็เข้าสู่ช่วงน่าเบื่อมากเช่นกัน บรรยายเยิ่นเย้อยืดยาว และผู้แต่งตั้งใจยัดเยียดสารที่เขาต้องการสื่อมากเกินไป ปรัชญา ความเชื่อ ศาสนา ศีลธรรมคุณธรรมความเป็นมนุษย์ วิถีปฏิบัติต่อผู้ด้อยกว่า สภาพสังคมมนุษย์ และความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตต่างดาว บางช่วงแทบจะรู้สึกว่ากำลังอ่านคัมภีร์อยู่

เราไม่ชอบเรื่องความสัมพันธ์ของเอนเดอร์และโนวีนญ่าเลยแม้แต่น้อย เห็นหน้าครั้งเดียวผ่านจอ เข้าใจถึงความเจ็บปวดที่เค้าแบกรับความรู้สึกผิดก็หลงรักแล้ว ตลกน่ะ ตัวละครลูกๆ ของโนวีนญ่าทั้งโขยงก็ไม่ปลื้มใครเลย รวมทั้งตัวเอนเดอร์เองก็น่ารำคาญ เก่งกาจรู้ดีไปหมด ทำตัวเหนือคนอื่น คนแบบนี้น่าเบื่อค่ะ และท้ายเรื่อง เอนเดอร์ก็กระทำในสิ่งที่ทำให้เราหมดความรู้สึกดีต่อเขาโดยสิ้นเชิง อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยมากนะ ไม่ได้มีอะไรสำคัญกับเนื้อเรื่องเลย แค่คำพูดประโยคเดียว แต่มันสะดุดใจเราแรงพอดู ตอนที่เอนเดอร์คิดถึงพ่อแม่ตัวเองว่า พ่อแม่คงไม่ได้รักเขาเท่าไหร่ ดูสิ ตอนนี้เขารักลูกเลี้ยงตัวเองมากกว่าที่พ่อแม่รักเขาซะอีก โคตร hypocrite เลย ตัวเองบอกโนวีนญ่าว่า เขาไม่ประณามความผิดใคร เพราะเขายังไม่เจอคนที่เขารู้สึกว่าทำบาปมาสาหัสกว่าเขาเลย แล้วมาเปรียบเทียบว่าตัวเองดีกว่าพ่อแม่ในใจทำไม ปากอย่างใจอย่าง ทุเรศอ่ะ

อ่านถึงตรงนี้แล้ว เรารู้สึกว่านิยายเรื่องนี้เสแสร้ง พยายามจะบอกว่า ฉันเป็นนิยายไม่ไร้สาระนะ มีแนวคิดลึกซึ้งซ่อนอยู่ให้คนอ่านคิด แต่เราไม่ชอบนิยายที่พยายามสั่งสอน มันไม่ธรรมชาติ การอ่านช่วง 10% สุดท้ายก็เลยทำให้เราเซ็งเรื่องนี้พอดู ทั้งที่เนื้อเรื่องดี แต่ลงท้ายด้วยความรู้สึกไม่ค่อยแฮปปี้กับการอ่านเล่มนี้เท่าไหร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น