วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

The Sweetness at the Bottom of the Pie - Alan Bradley

คะแนน : 7

นิยายนักสืบเล่มแรกในชุด Flavia de Luce Mystery ตอนนี้เพิ่งออกมา 2 เล่ม จากที่นักเขียนกะไว้ว่าจะมีทั้งหมด 6 เล่ม นี่เป็นนิยายเล่มแรกของ Alan Bradley วัย 70 ปี ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนนิยายหน้าใหม่ที่มีอายุมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ถึงผู้เขียนจะไม่เคยแต่งนิยายมาก่อน เขาก็มีประสบการณ์มากมายในวงการโทรทัศน์ และงานเขียนสั้นๆ อย่างอื่น นิยายเล่มแรกของเขาสร้างกระแสอันน่าทึ่งให้กับวงการนิยายนักสืบ ตั้งแต่ยังไม่ได้พิมพ์เป็นเล่ม ก็ได้รับคำชื่นชมมากมาย หลังจากนั้นก็ได้รับรางวัล เช่น Agatha Award for Best First Novel 2009, Arthur Ellis Award for Best First Novel 2010 ติดอันดับ New York Times Bestseller ถึง 16 สัปดาห์ ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไป 35 ประเทศทั่วโลกแล้ว เห็นกระแสอะไรเป็นไม่ได้ นั่นทำให้เราหยิบเรื่องนี้มาอ่าน

ใน The Sweetness at the Bottom of the Pie เล่มนี้ แนะนำให้เรารู้จักตัวเอกของเรื่อง ฟลาเวีย เดอ ลูซ เด็กผู้หญิงอายุ 11 ปี ที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ชนบท กับพ่อ และพี่สาวสองคน ฟลาเวียเป็นน้องสุดท้องที่เป็นตัวแสบไม่ใช่เล่น เวลาโดนพี่สาวแกล้ง ฟลาเวียก็จะแก้แค้นด้วยยาพิษ !!! ใช่แล้ว สิ่งที่ฟลาเวียหลงใหลที่สุดในชีวิตคือ เคมี ฟลาเวียมีห้องทดลองเคมีชั้นเลิศ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ฮะฮ่า เธอจัดการเอาสารสกัดใส่เข้าไปในลิปสติกของโอฟีเลีย พี่สาว แค่นี้ ฟีลี่ ก็จะปากบวมเจ่อไปหลายวัน แสบมั้ยล่ะ นี่แหละตัวเอกในนิยายนักสืบของเราเล่มนี้

วันหนึ่ง มีนกตายวางอยู่ที่หน้าบ้าน ที่ปากนกมีแสตมป์โบราณเสียบคาอยู่ เมื่อพ่อเห็นก็ตกใจมาก ต่อมา ฟลาเวียแอบได้ยินพ่อทะเลาะกับชายคนหนึ่ง ตีสี่วันรุ่งขึ้น ฟลาเวียตื่นมาพบชายแปลกหน้ากำลังจะสิ้นใจอยู่ในสวน ลมหายใจสุดท้ายของเขามีกลิ่นแปลกๆ พร้อมคำพูดเดียวว่า Vale (ลาก่อน) พ่อของเธอถูกตำรวจพาตัวไป จึงเป็นหน้าที่ของนักสืบตัวจิ๋วของเรา ที่จะต้องคลี่คลายคดีปริศนาครั้งนี้

ไม่รู้ว่าเพราะคาดหวังมากไปรึเปล่าไม่รู้นะคะ เพราะเห็นได้คำชมมาเยอะ แต่อ่านไปตั้งนานยังไม่รู้สึกสนุกเลย อ่านไปช่วงแรก ก็มีแค่ฟลาเวียวิ่งไปมาตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรมในหมู่บ้าน ห้องสมุด เพื่อหาข้อมูล และคุยกับคนต่างๆ วิธีเล่าเรื่อง เล่าจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง คือ ตัวฟลาเวียเอง บางทีเราอ่านแล้วสับสน เหมือนฟังคนสมาธิไม่นิ่งเล่าเรื่อง เดี๋ยวความคิดเธอก็จะกระเจิดกระเจิงไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ อ่านแรกๆ งง กว่าจะชิน จนพอจะจับต้นชนปลายได้ว่าใครเป็นใคร เรื่องเป็นยังไง

ฟลาเวียเป็นเด็กฉลาด ฉลาดมากจนเราว่า ไม่เป็นธรรมชาติเลยด้วยซ้ำ เราไม่ได้บอกว่า เด็ก 11 ขวบจะฉลาดขนาดนี้ไม่ได้นะ แต่เราอ่านแล้วรู้สึกว่า บทสนทนาของฟลาเวียเหมือนผู้ใหญ่เอาคำพูดตัวเองยัดใส่ปากเด็ก พวกศัพท์เคมีที่เธอร่ายมา ความรู้เคมี ม.ปลาย ของเราก็ลงกรุไปหมดแล้ว ข้อมูลอ้างอิงหลายอย่างที่ฟลาเวียอ้าง เราก็เลยตามไม่ทันไม่สนุกด้วย อ่านไปอย่างเบื่อๆ

จนถึงครึ่งเล่มนั่นแหละ ที่เนื้อเรื่องเริ่มสนุกขึ้นมา เรื่องราวประวัติแสตมป์อ่านเพลินดี ข้อมูลปริศนาต่างๆ ค่อยๆ ถูกเปิดเผยขึ้นมาทีละนิดๆ วิธีการอนุมานสันนิษฐานเหตุการณ์ของฟลาเวีย เหมือนสไตล์เรื่องนักสืบโบราณแบบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ หรือ อกาธา คริสตี้ แต่จะว่าวิธีคลี่คลายปริศนาฉลาดแยบยลมั้ย ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะถ้าคุณอ่านเรื่องนักสืบมาบ้าง ก็เดาเรื่องได้ไม่ยาก

ฉากของเรื่องอยู่ในยุคสมัยของคิงจอร์จที่ 6 (พ่อของควีนเอลิซาเบ็ธที่ 2) บทสนทนาสำนวนการพูดจาของตัวละครฟังดูอังกฤษจ๋า โบราณๆ หน่อย พออ่านจบมาเช็คข้อมูลยังแปลกใจเลยว่า ผู้แต่งเป็นชาวแคนาดา ไม่เคยอาศัยอยู่ที่อังกฤษเลย แต่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนบรรยากาศอังกฤษมากๆ

สรุปว่า เรื่องนี้เป็นนิยายนักสืบตามแบบฉบับ ไม่มีอะไรรุนแรงในเนื้อเรื่อง ฆาตกรรมก็ฆ่าแบบยาพิษ แรงจูงใจของฆาตกรก็ไม่ได้มีอะไรโรคจิตพิสดาร ถือว่าเป็นเรื่องนักสืบใสๆ อ่านได้ไม่มีพิษภัย (อ้อ ไม่ใช่สิ มีพิษ แต่ไม่มีภัย) มีตัวละครที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่เรากลับยังไม่ประทับใจเรื่องนี้เท่าไหร่ มันยังไม่ค่อยโดนน่ะค่ะ อาจจะต้องดูเล่ม 2 อีกที ถึงจะตัดสินใจได้ว่าควรตามต่อมั้ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น