คะแนน : 9.5
ว่ากันต่อถึงหนังสือสมัยเด็ก เพราะตอนเข้า eBay ไปหา Tales of Toyland เราก็ฟลุคเจอ William the Lawless ซึ่งเป็นเล่ม 38 เล่มสุดท้ายของซีรีส์ Just William ในราคาที่พอจะสมเหตุสมผลเข้าพอดี ก็เลยจัดแจงสั่งซื้อมาด้วยเลย
สมัยเด็กเราชอบอ่านเรื่อง เด็กจอมแก่น ของ ว. ณ ประมวญมารค มากๆ เรื่องซนแสบของวิลเลียม กับเพื่อนในคณะนอกกฎหมายของเขา พร้อมกับมีแม่หนูไวโอฯ มาแจมเป็นบางตอน วิลเลียมแสนซน เป็นที่อิดหนาระอาใจของพ่อแม่กับพี่สาวพี่ชายยิ่งนัก แต่เป็นที่รักของนักอ่าน ตั้งแต่เด็กที่ได้อ่านเด็กจอมแก่น เราก็กะแล้วว่า เรื่องของวิลเลียมมันน่าจะมีมากกว่านั้น ก็ได้แต่เสียดายที่ ว. ณ ประมวญมารค นิพนธ์แปลไว้เล่มเดียว เคยซื้อหนังสือเรื่องของวิลเลียมที่วางขายเป็นภาษาไทยอีก 1 เล่ม ชื่อเด็กจอมทะโมน จำไม่ได้แล้วว่าใครแปล ต้องไปรื้อดู แต่เล่มนั้นไม่ค่อยสนุกนัก เพราะแปลมาจากเล่ม 1 ซึ่งเป็นช่วงต้นของชุด อะไรๆ ก็เลยยังดูไม่ค่อยลงตัว
แปลกมากที่ตัวละครเด็กชายที่เราชอบที่สุด ในบรรดาหนังสือเด็กที่อ่าน มีอยู่ 2 คน เป็นเด็กที่มีบุคลิกตรงกันข้ามแบบสุดขั้ว หนึ่งคือ ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย และอีกคนก็คือ วิลเลียมนี่แหละ ถ้าเซดริกเป็นหนูน้อยเทพบุตร วิลเลียมก็คงเป็นเด็กนรกดีๆ นี่เอง ในสายตาผู้ใหญ่ที่เจอฤทธิ์ของเขาเข้าไป ซน แก่น แสบ ป่วน แต่เราก็ชอบเขามากๆ และเอาใจช่วยวิลเลียมตลอด วิลเลียมติดอยู่ในความทรงจำในฐานะหนังสือโปรดในวัยเด็กของเรามาจนโต
จนเมื่อเด็กจอมแก่นถูกจัดพิมพ์ครั้งล่าสุดโดย สนพ. นานมี เมื่อปี 2547 เราจึงเพิ่งทราบจากคำนำนั่นแหละว่า เรื่องนี้มาจากเรื่องชุด Just William แต่งโดย Richmal Crompton และปีนั้นเองที่ทำให้เราเริ่มปฏิบัติการตามล่าหาหนังสือชุด Just William ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดถึง 38 เล่ม (38 เล่มคือจำนวนเล่มหลัก แต่ยังมีตอนที่อยู่ในเล่มเหล่านั้น ถูกจับเอามาแยกเป็นเล่มรวมในโอกาสอื่นๆ อีกมากมายหลายครั้ง แล้วมีเล่มพวกตอนพิเศษ บทวิทยุ ต่างหากอีก ทำให้ชื่อเล่มทั้งหมดของหนังสือชุดนี้มีมากกว่านั้น) ที่อังกฤษมีพิมพ์หนังสือชุดนี้อยู่เรื่อยๆ ล่าสุด 1-2 ปีนี้ก็ยังพิมพ์ใหม่อีก แต่มักจะพิมพ์อยู่แค่ 5 หรือ 10 เล่มแรก หรือตัดเอาตอนต่างๆ มารวมกันไม่กี่เล่ม ฉบับที่พิมพ์ครบ 38 เล่มครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี 1999-2000 ปกสีแดง รูปหน้าปกเหมือนฉบับพิมพ์ครั้งแรก แต่เวอร์ชันนั้นหายากมากแทบไม่เห็นเลย หลุดมาแบบครบชุดทีไรใน eBay ก็ราวกับเหยื่อถูกฉลามรุมเลย แย่งกันประมูล สู้ไม่ไหว ส่วนใหญ่ต้องตามซื้อทีละเล่มจากเวอร์ชัน 1990-1993 ทำให้การเก็บเรื่องนี้ให้ครบทำได้ยากลำบากอยู่
เราใช้เวลาหลายเดือนตามหาตามเก็บจาก eBay ทีละนิด จนได้มาทั้งหมด 37 เล่ม แต่ละเล่มเยินมากเยินน้อยตามสภาพ หมดเงินไปเกินหมื่นห้าพันบาท นับว่าหนังสือชุดนี้เป็นเรื่องที่เราลงทุนไปมากที่สุดในชีวิตเลย ยิ่งกว่าเพชรพระอุมาครบชุดซะอีก อุตส่าห์ตามได้ 37 เล่มแล้ว ขาดอยู่ที่เล่มสุดท้ายเล่มเดียวคือ William the Lawless ก็ทำให้เราต้องถอดใจ เพราะเป็นเล่มที่หายากมาก นานๆ จะมีมาที และราคาพุ่งสูง มันกลายเป็นของสะสม ไม่ใช่แค่หนังสือเอาไว้อ่านเฉยๆ ฉบับปกแข็งพิมพ์ครั้งแรกนี่ประมูลกัน 500-700 ปอนด์ แบบปกอ่อนบางทีก็เกือบ 100 ปอนด์ ทำใจซื้อหนังสือเก่าที่แพงกว่าราคาหน้าปก 20-30 เท่าไม่ได้ เลยยอมแพ้ เล่มท้ายๆ ก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่แล้วด้วย ผ่านมา 6 ปี จนมาถึงปัจจุบัน ก็ฟลุคเจอได้มาคราวนี้ในราคาแค่ 20 ปอนด์นี่แหละ ดีใจที่ได้เก็บเรื่องนี้ครบซะที
Just William เป็นเรื่องชุดที่มีเด็กชายวิลเลียม บราวน์ อายุ 11 ขวบ เป็นตัวเอก เคยมีคำโฆษณาบนปกหนังสือวิลเลียมว่า the most popular boy in fiction คงวัดจากยอดขาย 8 ล้านเล่มที่ถือว่าขายดีถล่มทลายมากในสมัยก่อน แน่นอน มันเป็นคำพูดก่อนยุคแฮร์รี่ พอตเตอร์ ผู้แต่ง Richmal Crompton (เป็นผู้หญิงนะคะ แต่ชื่อแปลกหน่อย เป็นอดีตครูโรงเรียนสตรี โชคร้ายป่วยเป็นโปลิโอขาลีบไปข้างหนึ่ง เลยลาออกมาเขียนหนังสือเต็มตัว ไม่เคยแต่งงาน ไม่เคยมีลูก ความซนของวิลเลียมบางเรื่อง เธอเอาแบบมาจากน้องชายของเธอสมัยเด็ก กับหลานชาย) เขียนเรื่องของวิลเลียมติดต่อกันยาวนาน ตั้งแต่ปี 1919 ในนิตยสาร รวมเล่มครั้งแรกใน 3 ปีต่อมา จนเธอเสียชีวิตในปี 1969 เล่มสุดท้าย William the Lawless พิมพ์ในปี 1970 หลังเธอเสียชีวิต ตลอดเวลากว่า 50 ปี วิลเลียมก่อเรื่องวุ่นๆ สนุกๆ ไปหลายร้อยตอน และได้รับความนิยมจากทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่เสื่อมคลาย พิมพ์แล้วพิมพ์อีกหลายครั้ง ถูกสร้างเป็นละครวิทยุ ภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์ก็หลายรอบ เด็กฝรั่งสมัยก่อนเป็นแฟนวิลเลียมทั้งนั้น
วิลเลียมไม่เคยโต เป็นเด็กอายุ 11 อยู่วันยังค่ำ แม้ว่าจะมีเรื่องของวิลเลียมในวันเกิดตัวเองไป 2-3 ครั้ง ไม่ว่าโลกรอบตัวจะเปลี่ยนไปยังไง วิลเลียมก็ยังเป็นเด็กชายคนเดิมที่คงความแสบ ฉลาด ซน กล้าคิดกล้าทำ ในแบบของตัวเองอยู่เสมอ เล่มแรกๆ เป็นเรื่องของเด็กในชนบทอยู่ เล่มกลางๆ ก็เป็นเรื่องในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง จนมาถึงยุคที่มีโทรทัศน์ แล้วก็ยังมีเรื่องของวิลเลี่ยมกับพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย วิลเลียมไม่มีตอนอวสาน เรื่องสุดท้ายก็ยังเป็นเรื่องสั้นจบในตอนธรรมดา
เรื่องของวิลเลียมนอกจาก Just William's Luck ที่ยาวหน่อยแล้ว นอกนั้นก็เป็นเรื่องสั้นสนุกๆ จบในตอน ในแต่ละตอน นอกจากจินเจอร์ เฮนรี่ ดั๊กลัส เพื่อนร่วมแก๊งแล้ว วิลเลี่ยมมีพี่ชายวัยรุ่นชื่อ โรเบิร์ต พ่อคนนี้ก็มีเรื่องจีบคนนั้นคนนี้ แล้ววิลเลียมเข้าไปป่วน ส่วนเอเธิล พี่สาวคนสวยของวิลเลียมก็จะมีผู้ชายมาจีบ ก็เป็นแหล่งให้วิลเลียมสร้างเรื่องปล่อยมุกได้เยอะ ชอบสุดๆ ก็ตอนที่มีไวโอเล็ตเอลิซาเบ็ธ เด็กผู้หญิงผมหยิกที่ยังพูดไม่ชัด ออกมาทีไร วิลเลียมก็แพ้ทุกที ฮ่าฮ่า แต่ไวโอฯ บทน้อยมีไม่กี่ตอน เล่มช่วงที่สนุกที่สุด น่าจะอยู่ประมาณเล่ม 3-20 พอเข้าช่วงสงคราม สภาพบ้านเมืองคงจะเครียด ความสนุกก็ด้อยลงมา พอสงครามเลิก สภาพสังคม กับวัยและความคิดของผู้แต่งก็คงไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้ว ช่วงนี้บางตอนก็ยังน่าอ่าน แต่ไม่ดีสุดๆ เหมือนเล่มแรกๆ
แม้ว่า Just William จะเป็นเรื่องของเด็ก แต่เหมือนช่วงแรกผู้แต่งตั้งใจเขียนให้ผู้ใหญ่อ่านมากกว่า ศัพท์ที่ใช้ค่อนข้างยาก แล้วบางทีมีสอดแทรกถ้อยคำที่แฝงอารมณ์ขันเสียดสีอยู่ลึกๆ ซึ่งเราว่า เด็กอาจไม่เข้าใจ แต่เด็กก็ยังอ่านสนุกได้จากวีรกรรมของวิลเลียม เพียงแต่อรรถรสที่ได้จะคนละแบบกว่าผู้ใหญ่อ่าน ในอังกฤษถึงต้องมีเวอร์ชันตัดย่อสำหรับเด็กด้วย ดังนั้น นี่เป็นเรื่องที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี แม้ว่าจะเพิ่งเอามาอ่านในยุคนี้ ก็ยังรู้สึกถึงความคลาสสิคข้ามกาลเวลาได้เลย
เราชอบวิลเลียมมากๆ หลายตอนที่อ่านแล้วนั่งหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง บางตอนนี่สนุกมากซะจนเราเสียดายที่คนไทยไม่ได้อ่าน จนเคยคิดเล่นๆ ว่าอยากจะหัดแปลเรื่องของวิลเลียมตอนที่สนุกๆ บางตอน เอามาโพสต์ลงเว็บด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากไม่เคยแปล ฝีมือก็อาจไม่ถึง แล้วก็ทำงาน (ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการหนังสือเลยแม้แต่น้อย) เวลาไม่อำนวย ก็เลยไม่เคยลงมือทำเลย (ทั้งหมดคือข้อแก้ตัวของความขี้เกียจทั้งนั้น ^_^) ไหนจะกลัวเรื่องลิขสิทธิ์อีก เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องปล่อยผ่านไป ตอนนี้ก็ยังแอบหวังว่า อาจจะมีฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ใหม่สวยๆ ครบชุดให้เราซื้อเก็บอีกรอบ เพราะ BBC ก็กำลังเอามาสร้างเป็นทีวีซีรีส์เวอร์ชันใหม่ แล้วอาจทำให้มีใครสนใจแปลเป็นภาษาไทย ก็จะรอซื้อนะ
ป.ล. ตอนเขียนโพสต์นี้ ก็เลยลอง google ดู เจอระดับเทพคุยกันเรื่อง Just William ที่นี่ น่าเสียดายมากเลย อยากอ่านที่อาจารย์ ว. วินิจฉัยกุล แปลออกมาจังค่ะ
2 ความคิดเห็น:
เรื่องนี้เราก็ชอบมากเหมือนกันค่ะ แต่คนที่แปลไม่ใช่อาจารย์ว.วินิจฉัยกุลนะคะ เป็นว.ณ.ประมวญมารคค่ะ เป็นนามปากกาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตค่ะ :)
ดีใจมากที่ได้พบผู้ที่ชอบหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่วัยเด็กเช่นเดียวกัน
ที่ได้อ่านเพราะพ่อกับแม่เป็นนักอ่าน และมักจะหาหนังสือมาเผื่อลูกด้วย
จนเวลาผ่านไป 55 ปี (อ่านตอนเพิ่งเริ่มอ่านหนังสือได้คล่อง ตอน 6 ขวบ)
ยังจำเรื่องวิลเลียมเด็กจอมแก่นได้ตลอดมา
ขอบคุณมากๆ ครับ
แสดงความคิดเห็น