วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

To Kill a Mockingbird - Harper Lee

คะแนน : 7.5

นิยายคลาสสิครางวัลพูลิตเซอร์ ปี 1961 ที่เห็นติดอันดับหนังสือในดวงใจตลอดกาลของนักอ่านฝรั่งตามโพลล์ต่างๆ บ่อยๆ แต่ที่เราหยิบเรื่องนี้มาอ่าน มาจากเรื่องที่เล็กน้อยกว่าเหตุผลข้างต้นมาก เรื่องของเรื่องคือ มีนักแสดงคนหนึ่งที่เรากำลังสนใจติดตามผลงาน ให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นหนังสือเล่มโปรดของเธอ มีคนบอกว่า เราจะรู้จักคนคนหนึ่งมากขึ้นจากสิ่งที่เขาอ่านใช่ไหม เรากำลังอยากรู้จักเธอ ก็เลยอยากอ่านเล่มนี้

To Kill a Mockingbird เป็นเรื่องแนว coming-of-age เห็นมีคนใช้ภาษาไทยว่า การก้าวผ่านวัย ก็ฟังเข้าท่าดีนะ ตกลงใช้คำนี้แล้วกัน เป็นเรื่องที่มีตัวเอกเป็นเด็กหญิงชื่อสเกาท์ ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในเมืองเล็กๆ ทางรัฐตอนใต้ของอเมริกา ในยุค 1930s บอกเล่าเรื่องราว 2-3 ปีในชีวิตของสเกาท์ จนถึงอายุประมาณ 8-9 ปี เธอมีพี่ชายที่อายุมากกว่า 4 ปีชื่อเจม และพ่อที่เป็นทนายความชื่อแอตติคัส พ่อเลี้ยงดูลูกๆ อย่างให้อิสระ สเกาท์จึงเป็นเด็กหญิงทอมบอยที่เล่นสนุกอยู่กับพี่และเพื่อนผู้ชาย เหตุการณ์สำคัญในเรื่องคือ พ่อของเธอไปรับว่าความให้ชายผิวดำคนหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนหญิงผิวขาว

ตอนเริ่มต้นอ่านเรื่องนี้ อ่านแบบไม่รู้อะไรเลยนอกจากที่พูดข้างบนย่อหน้าแรก เป็นเรื่องแนวไหนก็ยังไม่รู้ ก็ไม่รู้จะคาดหวังอะไร ช่วงแรกไปเรื่อยๆ มาก ชีวิตเด็กบ้านนอกฝรั่ง แต่สเกาท์เป็นเด็กฉลาด น่ารักดี เล่าเรื่องที่บ้าน เล่าเรื่องไปโรงเรียน เล่นสนุกตอนปิดเทอมฤดูร้อน ขำมากตอนดิลขอแต่งงานเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็ลืม เล่นกันประสาเด็กจริงๆ แล้วเราก็จะค่อยๆ ได้เห็นภาพชีวิต ผู้คน และค่านิยมของสังคมเมืองเล็กสมัยนั้น ผ่านสายตาของสเกาท์ เห็นวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ต่างกัน การประพฤติตัว การแบ่งชนชั้น และโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเหยียดผิว

ชอบตัวละครพ่อ เป็นคนดีมีอุดมการณ์ และเข้าใจคนอื่นมาก ชอบฉากที่สเกาท์บอกอาว่า ไม่ยุติธรรมที่มาตีโดยไม่ฟังเหตุผล ชอบฉากที่ดิลเล่าสาเหตุที่หนีออกจากบ้าน ชอบตอนที่สเกาท์นึกว่าทำไมคุณครูติเตียนสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำกับยิว แต่กลับดูถูกคนดำเสียเอง

นิยายเรื่องนี้ใช้สัญลักษณ์หลายอย่างเป็นตัวแทนความคิด โดยเฉพาะนกม็อคกิ้งเบิร์ด พ่อยอมให้สเกาท์กับพี่เล่นปืนลม แต่สั่งห้ามว่า ยิงนกอื่นได้ แต่ห้ามยิงนกม็อคกิ้งเบิร์ดเป็นอันขาดเพราะมันบาป มันเป็นนกที่มีแต่ร้องเพลง ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้คน สื่อความหมายถึงการลงโทษทอม ชายผิวดำที่ไม่เคยทำร้ายใคร ในโทษที่เขาไม่ได้ก่อ ว่าเป็นบาปมหันต์ดุจเดียวกัน เช่นเดียวกับถ้าจะมีการเอาโทษบูในตอนท้ายเรื่อง และม็อคกิ้งเบิร์ดอาจหมายรวมไปถึง ผลที่เกิดกับสเกาท์และเจมด้วยก็ได้ เด็กๆ ที่ต้องสูญเสียความไร้เดียงสาในการมองโลกอย่างบริสุทธิ์ไป โลกช่างมีความอยุติธรรมหลายอย่างเหลือเกิน

การเติบโตของสเกาท์ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ เติบโต จนบางครั้งคนอ่านไม่สังเกต พอรู้สึกตัวอีกที เธอก็ไม่ใช่เด็กไม่รู้ความอีกแล้ว โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่สเกาท์เดินออกมาจากบ้านของบู แล้วเห็นโลกจากมุมมองใหม่ เธอลองนึกทบทวน วันคืนที่ผันผ่าน ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปร ตัวเธอกับพี่ชายที่เดินผ่านบ้านของเขาทุกวัน บูมองเห็นผู้คน เพื่อนบ้าน ชีวิตที่อยู่เบื้องหน้าเขาอย่างไร การรู้จักมองสิ่งต่างๆ ผ่านสายตาผู้อื่นเป็น แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการเติบโตทางความคิดของเด็กหญิงคนนี้

อันที่จริง เราไม่ใช่แฟนเรื่องแนวการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างหนัง Stand by Me ที่เป็นเรื่องในดวงใจหลายคน ก็เฉยๆ มาก แล้วไม่รู้ทำไม ที่การโตมักถูกนำเสนอว่าคือการเจอประสบการณ์ชีวิตที่สะเทือนใจ ผู้ใหญ่ชอบเอาเรื่องเศร้ามาให้เด็กอ่านเป็นหนังสือนอกเวลา ตอนอ่านเล่มนี้กลางๆ เรื่องก็เริ่มหวั่นๆ กลัวพ่อหรือพี่ชายหรือเพื่อนของสเกาท์ตาย นึกถึงน้ำตาเป็นปี๊บๆ ที่เสียไปสมัยเด็ก ตอนอ่านต้นส้มแสนรักอย่างนี้ ฉันอยู่นี่ ศัตรูที่รัก ตอนเรือรบจำลอง ก็อีก เพื่อนรักของจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ด้วย รักแล้วก็ประทับใจเรื่องเหล่านั้นนะ แต่ตอนนี้ไม่อยากร้องไห้น่ะ โชคดีที่เรื่องนี้ไม่เศร้า การก้าวย่างพ้นวัยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากเหตุการณ์หลายอย่าง และการสูญเสียมุมมองที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรถ้าเรายังมีศรัทธาในความดีหลงเหลืออยู่

เรื่องมันเรียบ และประเด็นของเรื่องห่างไกลตัวไปหน่อย ถ้าอ่านตอนอายุน้อยอาจจะประทับใจกว่านี้ ตอนนี้คะแนนความชอบอาจจะไม่สูง เพราะเพิ่งอ่านจบวันเดียว แต่ไม่แน่ เรื่องแนวนี้ เวลาผ่านไปทีหลัง อาจจะเกิดชอบขึ้นมามากๆ ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น