วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

The Immortal Life of Henrietta Lacks - Rebecca Skloot

คะแนน : 8

เล่มนี้เป็น Amazon Editor's Pick 2010 อยากอ่านตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งได้ฤกษ์ ก่อนจะพูดถึงความเห็นตัวเอง ขออนุญาตใส่ลิงก์ไปที่บล็อกนี้ HeLa cell: ชีวิตอมตะของ Henrietta Lacks ที่เล่าไว้อย่างดีแล้ว ขอขอบคุณเจ้าของบล็อกโน้นด้วย เพราะตัดสินใจจะอ่านเล่มนี้จากการไปอ่านบทความนั้นแหละค่ะ จะได้ประหยัดเวลา ไม่ต้องเขียนว่าหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรด้วย เดี๋ยวสรุปผิดๆ ถูกๆ จะแย่เอา กำลังเหนื่อยแล้วก็ขี้เกียจมากๆ เลย

พูดถึงความรู้สึกตัวเองเลยแล้วกัน เล่มนี้น่าติดตามตั้งแต่บทแรก และการที่ผู้เขียนย้ำแล้วย้ำอีกว่า ทุกอย่างในหนังสือนี้เป็นเรื่องจริง เธอทำงานเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ เป็นสิบปี ทุกคำในหนังสือ มีหลักฐานเป็นเทป ภาพถ่าย หรือข่าวในสื่อต่างๆ รองรับ มันก็ช่วยเซตอารมณ์ให้เราอิน ที่กำลังอ่านนี่เรื่องจริงนะ สิ่งที่ประทับใจที่สุดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ ชื่นชมที่ผู้เขียนสามารถรักษาสมดุลของหนังสือได้ดีมาก บอกเล่าได้ทั้งเนื้อหาเรื่องราวความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้อง ไม่แห้งแล้ง เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตจิตใจ ทั้งมีสาระ ทั้งอ่านสนุก เป็นเรื่องจริงที่เขียนในลีลาคล้ายนิยาย

เส้นเวลาในเรื่องดำเนินไปแบบเส้นสปาเก็ตตี้ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ กัน ยาวนาน 50-80 ปี โดยสลับไปสลับมา จากบุคคลฝั่งครอบครัวของเฮนเรียตต้า และฝ่ายแพทย์นักวิจัย และผลกระทบที่มีต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ถึงจะมีเหตุการณ์และบุคคลมากมาย แต่เล่าได้อ่านง่ายไม่งง น่าติดตาม ไม่เบื่อเลย และเห็นได้หลายมุมมอง มันมีบางบทที่เธอบอกเล่าเรื่องราวในมุมของตัวเอง อ่านแล้วรู้สึกว่า ผู้เขียนแคร์ เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่เธอสนใจจริงจัง ทุ่มเท บางครั้งก็จะรู้สึกใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกัน เวลาเล่าเรื่องราวที่มันมีแง่มุมที่กระทบผู้คนหลายฝ่าย เธอก็พาตัวออกห่างจากหัวข้อ และสามารถรายงานได้อย่างเป็นกลาง โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการพยายามตัดสินใคร หรือชี้นำผู้อ่าน

หมอนำเซลล์ไปใช้ทดลองโดยคนไข้ไม่รับรู้ เซลล์สร้างประโยชน์ให้โลกมหาศาล บริษัทไบโอเทคโนโลยีสร้างรายได้จากเซลล์เป็นพันล้านดอลลาร์ ทายาทของคนไข้ไม่มีเงินรักษาตัว หมอฉีดเซลล์มะเร็งเข้าคนไข้เพื่อทดสอบผล เจ้าของเซลล์ฟ้องร้องแบ่งผลประโยชน์ การจดสิทธิบัตรยีน และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย ที่ท้าทายเส้นแบ่งของจริยธรรมในการปฏิบัติต่อปัจเจกบุคคล และผลประโยชน์ส่วนรวมของมนุษยชาติ อ่านแล้วมันจะเกิดคำถาม ที่ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าอะไรถูกอะไรผิด ชีวิตและสังคมเรามีความซับซ้อนมากขึ้นเหลือเกิน จนไม่รู้แล้วว่าจะมีจุดยืนต่อบางเรื่องยังไง หรือควรจะใช้วิธีง่ายสุดอีกอันคือ เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับเรา จะไปคิดถึงมันทำไม

ทำให้นึกถึงสิ่งที่ตัวเองคิดมาตลอดว่า ไอ้คำสอนเรื่องทางสายกลางนี่มันฟังง่าย แต่ความยากจริงๆ คือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าตรงกลางอยู่ตรงไหน ทางที่เรากำลังเดิน ขอบซ้ายขอบขวาอยู่ที่ใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น