วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

Re-Reads: The Hunger Games (Part III)


ในบรรดาวรรณกรรมเยาวชนที่กลายเป็นภาพยนตร์ดังแล้วสร้างกระแสได้ในระดับที่เรียกว่าเป็น phenomenon มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง แบบที่มีสื่อเมืองนอกหลายแห่งขนานนามว่าเป็นตรีอติภาคแห่งปรากฏการณ์วัฒนธรรมยุคใหม่ หนึ่งคือ Harry Potter สองคือ Twilight และสามก็คือ The Hunger Games นี่แหละ ทั้งที่เนื้อเรื่องและแนวเรื่องของทั้งสามไม่ได้มีความเหมือนกันเลย จนบางครั้งแทบจะรู้สึกว่ามันน่ารำคาญที่มีคนเอามาเปรียบกันอยู่ได้ แต่โดนกรอกหูจนหนีไม่พ้นล่ะ เพราะฉะนั้นก็ลองเทียบดูหน่อย

ที่จริงเราไม่ชอบให้ใครยกอะไรมาเทียบกับ Harry Potter สมัยก่อนเคยใช้ HP เป็นบรรทัดฐานเหมือนกัน แต่พอทุกเรื่องที่อ่านหลังจากนั้นเฟลหมดเลยรู้ตัวเลิกทำ เพราะเอาอะไรไปเปรียบเทียบกับ HP ก็ไม่ยุติธรรมทั้งนั้น คงจะไม่มีเรื่องไหนอีกแล้วที่ทำได้เทียบเคียงแบบนั้น สำหรับเรา HP ไม่ใช่แค่นิยายธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า มนต์ขลังไม่ใช่แค่ถ้อยคำ เหมือนเราหายใจเอาอากาศสดชื่นแล้วรู้สึกได้ว่าออกซิเจนมีอยู่จริง อ่าน HP ทีไรก็ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมมันทำให้เรารักเรื่องนี้ได้ถึงขนาดนี้นะ เรารู้จัก HP ก่อนที่สำนักพิมพ์เมืองไทยจะพิมพ์เรื่องนี้ และซื้อฉบับแปลภาษาไทยตั้งแต่วันแรกที่มันออกมา แต่พอหนังภาคแรกฉาย ก็โคตรผิดหวังเลยเหมือนกัน หลังจากนั้นตอนหลังก็ทำใจได้ว่าเวลาดูหนังอย่าเอาไปเทียบกับหนังสือ แม้ว่าเวลาดูภาค 3 ทีไร ก็ยังเกลียดตอนจบไม้กวาดบินแบบนั้นทุกที

มาถึง Twilight เราอ่านนิยายจบ 4 เล่มก่อนที่มันจะสร้างเป็นหนัง อ่านแล้วก็ชอบนะ แต่ไม่ถึงขนาดประทับใจ พอไปดูหนังก็รู้สึกว่ามันช่างห่วยเหลือเกิน ดูในโรงแค่ภาคแรกภาคเดียว ภาคอื่นดูในโทรทัศน์แบบเกือบจะหลับ ตอนนี้ภาค 4.1 ก็ยังไม่ได้ดูเลย แต่บางครั้งเวลาเพื่อนด่าเรื่องนี้ให้ฟังก็แก้ตัวอ่อยๆ ให้นิดหน่อยว่า นิยายมันก็สนุกดีนะ บอกตามตรงว่า เราไม่เคยเห็นหนังที่ประสบความสำเร็จมากๆ เรื่องไหนมีจำนวนคนเกลียดมากเท่านี้มาก่อนเลย

ตอนนี้มาถึงยุคของ The Hunger Games กระแสในบ้านเราอาจจะงั้นๆ แต่ที่อเมริกาทุบสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศไปหลายอย่าง ความเห็นคนดูก็แตก คนทั่วไปไม่พูดถึงแล้วกัน ดูเฉพาะตามแฟนฟอรั่มของเรื่องนี้ ส่วนใหญ่พอใจมาก แต่ที่ผิดหวังก็มี บอกหนังสือดีกว่า เพราะฉะนั้นสรุปว่า สำหรับเราทั้งสามมีจุดที่เหมือนกันคือ เป็นเรื่องที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ไม่ดีเท่านิยายทั้งสามเรื่อง และขอย้ำว่า ใช้หนังตัดสินคุณค่าของสามเรื่องนี้ไม่ได้

ส่วนหนึ่งที่ทั้งสามเรื่องนี้ถูกจับเทียบกันบ่อย คงเพราะคนอ่านคนดูที่เป็นแกนหลักนั้นเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เหมือนว่าเด็กที่อ่าน HP พอโตมาถึงวัยมีความรักก็ชอบ TW ต่อมาก็ชอบ HG แต่กลุ่มนี้ควรจะอายุมากขึ้นหน่อย เพราะต้องรับรู้ว่า หลังจากการต่อสู้ผจญภัย หลังสิบเก้าปีผ่านไป ทุกอย่างอาจไม่เป็นไปด้วยดี ชีวิตแม่งบัดซบว่ะ ทำไมทั้งสามเรื่องที่ดูไม่ค่อยเหมือนกันนี้ถึงทำให้วัยรุ่นชอบมากๆ ได้ขนาดนั้น ถ้าให้หาจุดร่วมจริงๆ นอกจากที่ว่าทั้งสามเรื่องแต่งโดยนักเขียนหญิง ก็คงอยู่ที่ทั้งสามเรื่องมีตัวเอกที่เป็นเด็กวัยรุ่น และมีตัวละครที่ดึงดูดให้คนอ่านเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยได้

ใน HP แม้จะไม่ใช่มุมมองบุคคลที่หนึ่ง แต่ก็เหมือนเราอยู่กับแฮร์รี่ตลอดเวลา ผจญภัยไปกับแฮร์รี่ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วน TW นี่ก็อยู่ในหัวเบลล่าเลย ฉันอย่างนั้นฉันอย่างนี้ เวลาเป็นหนังอาจจะเซ็งว่าไอ้หมอนี่มันเป็นแวมไพร์ชัดๆ ทำไมนางเอกโง่ไม่รู้ตัวซะที แต่ตอนอ่านนี่กว่าจะรู้ว่าเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์ใช้เวลาครึ่งเล่ม และทั้งๆ ที่เรารู้อยู่แล้วแต่มันก็ยังอ่านสนุกนะ เพราะสมมุติว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดกับเราจริงๆ ที่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ใครจะไปคิดว่าจะมีแวมไพร์จริงๆ บ้างล่ะ และใน HG เราก็อยู่กับแคทนิสตลอดเช่นกัน คนที่ชอบทั้งสามเรื่องนี้จะต้องเปิดใจและเชื่อมโยงกับตัวละครหลักของเรื่องได้ในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่ชอบตัวละครก็จบ ในใจก็จะค้านทุกสิ่งทุกอย่างของโลกในเรื่องที่มองออกมาจากตัวแฮร์รี่ เบลล่า และแคทนิส

อ่าน Part III ต่อ มีบางจุดสปอยล์เลยเถิดถึงจบ Mockingjay เลยนะ



19 หลังจากลืมตัวหลุดปากร้องเรียกพีต้าไป แต่พอมีเวลาคิด แคทนิสก็เอาอีกแล้วนะ นึกคำนวณสถานการณ์ว่าแผนรักโปรโมทดูท่าจะได้ผล เลยเป็นที่มาของการเปลี่ยนกฎ พีต้าแสดงเรียกเรทติ้งเก่ง ช่างไม่นึกบ้างเลยว่าเขาอาจจะทำไปด้วยใจจริง แต่เอาล่ะ ยังไงแคทนิสก็เริ่มออกตามหาพีต้าแล้ว จะได้รู้ว่าพีต้าเป็นยังไงบ้างซะที
- ตอนที่พีต้านอนพรางตัวอยู่ เห็นแคทนิสมา เขาคิดอะไรอยู่นะ คงยังไม่แน่ใจตัวแคทนิสหรอกว่าจะเอาไง แต่ไหนๆ เขาก็คงไม่รอด ได้เห็นหน้าคนที่รักอีกทีก็ดีใจแล้ว จึงเป็นฝ่ายทักออกไปเอง “You here to finish me off, sweetheart?”
- ฝีมือพรางตัวอันสุดยอดของพีต้าทำให้แคทนิสประทับใจจริงๆ อันที่จริงพีต้าก็มีฝีมือในแบบของเขานะ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้โชว์เท่านั้นเอง
- พีต้าปางตายอยู่แต่ก็ยังอุตส่าห์มีอารมณ์ขัน พยายามขอจูบจากแคทนิส เหมือนพูดเล่นแต่ในใจคงเอาจริงเต็มที่ล่ะ ตอนล้างตัวในลำธารเห็นแคทนิสอายก็ยิ่งล้อ ฉันไม่ถือหรอกที่เธอจะเห็นฉันโป๊ แกล้งขว้างกางเกงในไปใกล้ๆ ตัวแคทนิสอีกต่างหาก
- แคทนิสช่วยพาพีต้ามาหลบในถ้ำ พีต้าอ่อนแอช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว ขอแก้ตัวแทนคำเดียวว่า พีต้าอยู่ในสภาพนี้เพราะช่วยขวางเคโต้เพื่อให้แคทนิสหนีนะ
- แคทนิสจูบปิดปากพีต้าแบบตัดรำคาญไม่ให้พูดเรื่องตายไปทีนึง แต่พอได้ของกินจากเฮย์มิตช์ ทีนี้ก็เตรียมตัวแสดงละครเต็มที่

20 บทนี้ความสัมพันธ์ของแคทนิสกับพีต้าเริ่มพัฒนา ตอนแรกแคทนิสคิดเสมอว่าพีต้าแสดงเก่ง และเธอก็พยายามเล่นบทตามน้ำไปด้วย แต่ในใจก็มีหวั่นไหวบ้างนิดหน่อย พีต้าน่ารักมาก
- ตอนที่พีต้าขอให้แคทนิสเล่าเรื่องวันที่มีความสุขที่สุดให้ฟัง แคทนิสเลือกเล่าเรื่องแพะของพริม ตอนอ่านรอบแรกฟังจบเรื่องแล้วเรายังไม่เก็ทว่า เรื่องแพะนี่มีความสุขตอนไหนเนี่ย จนพีต้าสรุปว่า เป็นวันที่แคทนิสมีความสุขเพราะได้เห็นพริมมีความสุขที่สุด เราก็เลยเข้าใจขึ้นมา รู้สึกว่าพีต้าไม่ได้เห็นแคทนิสแค่ภายนอก
- ถึงแม้พีต้าอาจจะแอบชอบแคทนิสมาอยู่แล้ว แต่สำหรับเราถือว่า ความรู้สึกในเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ทั้งหมดเป็นแค่การแอบปลื้ม ถึงจะเป็นความรู้สึกที่รักชอบชื่นชมเอามากๆ ถึงขนาดว่ายอมตายแทนได้ แต่ก็ยังไม่ใช่ความรักจริงๆ เพราะเป็นแค่การมองอยู่ห่างๆ พีต้ายังไม่ได้รู้จักตัวตนแคทนิสเลย จนมาอยู่ด้วยกันในถ้ำนี่ล่ะ ที่ความหลงใหลผลิบานเป็นความรักแท้ขึ้นมา
- พีต้าร่อแร่ขนาดนี้แต่ก็เด็ดเดี่ยวนะ ไม่ยอมให้แคทนิสไปเอายารักษาตามที่เกมเมคเกอร์ประกาศล่อ จนแคทนิสต้องหลอกให้กินยานอนหลับ

21 บทที่กล่าวถึงงานเลี้ยงที่คอร์นูโคเปียนี้ในนิยายเป็นตอนที่สนุกมาก ทำให้เห็นว่าในฮังเกอร์เกมส์ ไม่ใช่การใช้กำลังหรือฝีมือต่อสู้กันอย่างเดียว แต่ต้องประลองไหวพริบสติปัญญาวัดใจกันด้วย แต่ในหนังทำเนื้อเรื่องตอนนี้กระจอกมากเลย
- แคทนิสไปซุ่มดูท่าที พอได้เวลา พื้นดินแยกออก มีแท่นโผล่ขึ้นมา ฟอกซ์เฟซวิ่งออกจากคอร์นูโคเปียคว้าถุงของตัวเองไป ถ้าอ่านจะรู้ละเอียดว่าเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดยังไง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็วิ่งมาวิ่งไปดื้อๆ แบบในหนัง
- แคทนิสสู้โคลฟไม่ได้ โคลฟโรคจิตมาก ลุ้นแทนแคทนิส
- คำที่แคทนิสพูดโต้ตอบกับเทรชตอนนี้ก็ดีมากเลยนะ ไม่ได้พูดยืดยาวหรอก แต่ปลุกเร้าอารมณ์ได้หลายอย่าง ยิ่งตอนท้ายที่แคทนิสขอร้องว่าจะฆ่าก็ช่วยทำให้เร็ว ทำให้เข้าใจดีว่าทำไมเทรชยอมปล่อยแคทนิสไป ถ้าเลือกได้ก็ไม่มีใครอยากมาฆ่ากันหรอก เคโต้แสดงความเป็นมนุษย์ครั้งแรกก็ตอนที่วิ่งมาหาโคลฟคุกเข่าร้องเรียกอยู่ข้างศพนี่ล่ะ

22 แคทนิสฝันถึงแม่ ประสบการณ์ตอนเด็กที่พ่อตายและแม่จิตป่วยไปส่งผลกระทบรุนแรงกับแคทนิสจนถึงโต รักน่ะรัก คิดถึงและโหยหา แต่กลัวเจ็บอีก เลยไม่ยอมไว้ใจความรัก ไม่ว่าจะดูเก่งกล้าแค่ไหน ลืมไม่ได้ว่าแคทนิสเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 16 เท่านั้น ตอนที่พูดว่า “ฉันอยากกลับบ้าน พีต้า”
- แคทนิสหวังกระแสจากคนดูก็หลอกให้พีต้าพูดเรื่องความรัก แต่พอเจอคำจริงของพีต้าเข้า ทีนี้สั่นจริงล่ะ แคทนิสไม่อยากให้กล้องจับ นี่เป็นจูบของจริงครั้งแรก
- เคลิ้มๆ ไปหน่อย แคทนิสก็พยายามกลับมาเข้าแผนอีก เพราะแค่จูบไม่พอจะได้ของขวัญจากสปอนเซอร์แล้ว คราวนี้ต้อนให้พีต้าเป็นฝ่ายพูดสารภาพรัก
- อ่านบทพูดช่วงนี้แล้วเจ็บใจหนัง พีต้าเล่าเรื่องตั้งยาว เขารักของเขามาตั้งแต่ 5 ขวบ แล้วขนมปังที่โยนให้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนะ ที่จริงก็เข้าใจว่าหนังต้องตัดบทพูดไม่งั้นยาว แต่ถ้าจะย่อเหลือประโยคเดียวจริงๆ เอาให้มันดีกว่า "ฉันมองเธอเดินกลับบ้านทุกวัน ทุกวัน" ไม่ได้เรอะ
- คำพูดดีๆ บทนี้มีตั้งเยอะตั้งแยะไม่ยอมใช้
“I remember everything about you,” “You’re the one who wasn’t paying attention.”
“I am now,”
“Well, I don’t have much competition here,”
“You don’t have much competition anywhere.”

23 ได้ของกินจากสปอนเซอร์มาตะกร้าใหญ่ ก็เลยต้องเล่นบทหวานกันต่อ พีต้านี่เขาขี้อายแอบมองห่างๆ มา 11 ปี ตอนนี้ได้โอกาสเต็มที่แล้วก็ทำคะแนนใหญ่เลย แคทนิสเขินหน้าแดงไปไม่รู้กี่รอบ แต่สงสารพีต้า ตอนนี้เขาคงกำลังมีความสุขมากๆ เลยนะ เพราะนึกว่าเป็นเรื่องจริง ชอบตอนที่พีต้าบอกว่า “I noticed just about every girl, but none of them made a lasting impression but you”
- พูดกันเรื่องเฮย์มิตช์ จากข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่แคทนิสคิดก็ทำให้เข้าใจที่มาที่ไปของเฮย์มิตช์มากขึ้นเยอะเลย
- จนถึงตอนนี้แคทนิสก็ยังอุตส่าห์พยายามบอกตัวเองว่าพีต้าโกหกเก่งจนเธอเองก็แทบเชื่อว่าเขารักจริง กำลังนึกว่าอนาคตพีต้ากับเธอจะเป็นยังไง แล้วตอนท้ายจะไปนึกถึงเกลขึ้นมาทำมั้ย
- พอออกจากถ้ำมาล่าสัตว์ อารมณ์โรแมนติกของแคทนิสก็หายหมด หงุดหงิดพีต้าที่ไม่ได้เรื่อง พอแยกกันแล้วแคทนิสไม่ได้ยินเสียงพีต้าผิวปากตอบ ตอนอ่านรอบแรกนึกว่าจะซ้ำรอยรูวซะแล้ว
- โอเค โอเค โกรธเพราะห่วงใช่มั้ย พีต้าพยายามอดกลั้นที่โดนแคทนิสวีนใส่ ก็ดีเหมือนกันนะที่ได้เห็นนิสัยเสียกัน ไม่งั้นมันจะเป็นรักแบบงมงาย
- พีต้าได้เครดิตการฆ่าฟอกซ์เฟซไปแบบงงๆ ด้วยลูกเบอร์รี่

24 กลับมาพักที่ถ้ำ เตรียมตัวรับศึกสุดท้ายกับเคโต้ เกมเมคเกอร์ทำให้แหล่งน้ำแห้งหมด บีบให้ไปตัดสินกันที่คอร์นูโคเปีย
- แคทนิสกับพีต้านั่งคุยกันที่ริมทะเลสาบ ฟังเสียงนกม็อคกิ้งเจย์ร้องเพลง บทนี้เหมือนผ่อนช้าลงใช่ไหม แต่เริ่มรู้แล้วล่ะว่านี่เป็นวิธีบิลท์ของ SC เหมือนทำนองเพลงที่เบาลงก่อนจะโหมหนัก เตรียมใจเจออะไรตูมท้ายบทได้เลย
- เคโต้มาแล้ว แคทนิสยิงแต่ติดเกราะ เคโต้วิ่งสวนไป มีฝูงอะไรไล่ตามมา เป็นฉากที่อึ้งทึ่งมาก ไม่รู้จะพูดยังไง บอกได้แค่ว่าดีกว่าในหนังเยอะมาก

25 เริ่มต้นขอขำแคทนิสก่อนได้ป่ะ เห็นตัวอะไรมาปุ๊บ นางเอกของเราก็รีบเผ่นก่อนเลย วิ่งหน้าตั้งไปจนถึงคอร์นูโคเปียแล้ว เพิ่งจะนึกถึงพีต้าขึ้นมาได้
- พีต้านี่เอาตัวเองยังไม่รอดแต่ก็ห่วงแคทนิสก่อนตลอด โปรดเห็นใจว่าที่วิ่งตามไม่ทันเพราะขาเจ็บยังไม่หาย ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นตัวถ่วง
- โอกาสฆ่าเคโต้กับการหันไปยิงช่วยพีต้า ในตอนฉุกละหุกที่ไม่มีเวลาคิด แคทนิสก็ยังเลือกสิ่งที่สำคัญกว่าได้
- คำบรรยายถึงฝูงมัตต์เพียงไม่กี่บรรทัดแรกๆ ก็ทำเอาขนลุกแล้ว อ่านถึงตอนเห็นดวงตาและปลอกคอ ขวัญกระเจิงเลย จนเห็นเจ้าตัวเล็กสีดำเลข 11 เกือบร้องไห้ ทำได้ไงทารุณโหดร้ายมาก อาจจะอ่านสนุกมาได้เกือบตลอดเล่มแบบไม่คิดอะไร แต่มาถึงตอนนี้ทุกคนคงต้องชะงัก ซึ้งถึงทรวงกับความชั่วร้ายของฮังเกอร์เกมส์
- วาระสุดท้ายของเคโต้ช่างสั่นประสาท คิดดูถ้าเป็นแคทนิสกับพีต้าที่ต้องทนนั่งฟังเสียงนั้นทั้งคืน ถึงจะไม่ชอบเคโต้มายังไงแต่โดนขนาดนั้น แบบว่าต้องกลืนคำว่า 'สาสมแล้ว' ลงคอไปเลย
- ตอนอ่านรอบแรก แน่ใจว่าชอบพีต้าจริงๆ ก็ฉากนี้แหละ พีต้ายกมีดขึ้นมา แคทนิสก็ง้างธนูเล็งหัวใจพีต้าทันควัน ชัวร์ล่ะว่าแคทนิสยังไม่ได้รักพีต้า มีดถูกขว้างลงทะเลสาบไปแล้วแคทนิสถึงรู้ตัวและเกิดละอายใจขึ้นมา โคตรชอบเลยที่พีต้าไม่ฟูมฟายสักนิดแค่เลิกคิ้วมอง แล้วเอาธนูกลับมายัดใส่มือแคทนิส อ่านทีไรเราก็รู้สึกทุกทีว่าพีต้าคือคนที่ทำให้แคทนิสเป็นคนที่ดีขึ้น ความเป็นคนดีของพีต้าช่วยหันเหทิศทางการกระทำของแคทนิสได้ ถ้าไม่ใช่พีต้าที่มาแข่ง ฮังเกอร์เกมส์ครั้งที่ 74 จะไม่มีวันมีผู้ชนะ 2 คน สมมุติเล่นๆ นะว่าเป็นเกลที่มาด้วย เกลกับแคทนิสก็คงช่วยกันสู้จนเหลือสองคนสุดท้ายอย่างนี้ล่ะ พอถึงฉากนี้ทั้งสองคนจะทำไง ก็คงตกลงกันว่าจะสู้สุดฝีมือ ไม่ได้สู้กันเพราะคิดจะเอาตัวเองรอด แต่เพื่อให้คนที่เก่งกว่าชนะไป แล้วกลับไปดูแลครอบครัวของทั้งคู่ แล้วทั้งสองคนก็จะหาเหตุผลสนับสนุนแบบเลือดเย็นว่า ให้คนที่แข็งแกร่งกว่าเป็นฝ่ายที่ต้องยอมกลับไปแบกรับความรู้สึกผิดทั้งชีวิต ไม่แน่ใจว่าใครจะชนะแต่ไงๆ ก็ตายคนหนึ่งล่ะ ไม่ใช่รอดทั้งคู่ เรื่องก็จบตรงนี้ไม่มี Catching Fire กับ Mockingjay แล้วแคปิตอลก็ยังกุมอำนาจต่อไป
- เบอร์รี่เข้าปากไปแล้วนะ เป็นฉากที่ทรงพลังมากฉากหนึ่ง

26 รอบแรกตอนอ่านแปลกใจว่า เกมส์จบแต่เรื่องยังไม่จบ พีต้าก็จะตายมิตายแหล่จากพิษบาดแผลอีกรอบ ตอนนี้แคทนิสห่วงพีต้าจากใจจริง
- คือการให้แคทนิสเล่าเรื่องทั้งหมดคนเดียว บางทีมันก็จะมีบางช่วงที่รู้สึกว่าแคทนิสรู้มากเกินนะ แค่เห็นชุดที่ซินน่าเอามาให้ใส่หลังเกมส์เท่านั้น ก็รู้ไปถึงว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลได้แล้ว
- ชนะเกมส์ได้แต่เป็นการตบหน้าแคปิตอล นี่ปูทางภาคต่อชัดๆ ชอบวิธีที่เฮย์มิตช์มากระซิบบอกความลับ ย้ำให้แสดงบทรักกันมากต่อไป และตอนที่เฮย์มิตช์บอกว่าไม่จำเป็นต้องเตือนพีต้า “He’s already there.”

27 ตอกย้ำอีกครั้งว่าทั้งหมดนี้คือรีอัลลิตี้โชว์ ตอนฉายเทปสรุป ชอบตอนที่พีต้านอนเพ้อเรียกชื่อแคทนิสมากเลย
- ระหว่างขึ้นรถไฟกลับบ้าน แคทนิสกับพีต้าออกไปเดินเล่นข้างทาง พีต้าเก็บดอกไม้ป่าให้ แคทนิสต้องพยายามแกล้งดีใจ เพราะที่จริงมันเป็นดอกกระเทียมป่า ทำให้แคทนิสเปรียบเทียบพีต้ากับเกลขึ้นมาอีกครั้ง พีต้าไม่รู้จักดอกไม้ชนิดนี้ไม่รู้ว่ารากของมันกินได้ แต่แคทนิสกับเกลไปเก็บมากินบ่อยๆ เป็นเหตุให้แคทนิสสับสนรู้สึกผิดว่าตัวเองกำลังโกหกใครบางคนหรือทั้งสองคนอยู่ นิยายเรื่องนี้ใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์เยอะมาก ทั้งชื่อตัวละครและความหมายแฝงในเนื้อเรื่อง ดอกไม้ป่านี่ลองตีความมั่วๆ ดูได้ว่า แคทนิสมีรากเหง้าเดียวกับเกล แต่พอพ้นจากดินมันก็ชูช่อสวยงามเป็นดอกไม้ของพีต้า
- พีต้าเดาออกแล้วว่าทั้งหมดนั้นแคทนิสแกล้งทำ ตอนที่พีต้าตัดพ้อ “พอถึงบ้านแล้วระหว่างเราจะเหลืออะไรบ้าง” แคทนิสพยายามยึดดอกไม้ในมือไว้แน่น “ฉันก็ไม่รู้”
- “One more time? For the audience?” he says. His voice isn’t angry. It’s hollow, which is worse. Already the boy with the bread is slipping away from me.
I take his hand, holding on tightly, preparing for the cameras, and dreading the moment when I will finally have to let go.

END OF BOOK ONE

********************

เราอ่าน The Hunger Games รอบนี้ ด้วยความรู้สึกรักตัวละครจาก Catching Fire และความลึกซึ้งตรึงใจจาก Mockingjay ครั้งแรกที่อ่านเล่มแรกจบ เราสงสัยว่าตัวเองจะประทับใจเรื่องนี้ไปนานแค่ไหน ตอนนี้รู้แล้วว่าเราคงไม่ลืมเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต

ในเล่มสอง Catching Fire ไม่ต้องสงสัยในตัวพีต้าแล้ว บทของเขาจะถูกอัพขึ้นมา สังเกตว่าคำพูดสวยๆ ของพีต้าจะถูกแฟนไฮไลต์ เยอะเลย (โคตรสปอยล์) ถ้าให้พูดถึงตอนที่เราชอบ อาจจะต้องยกมาเกือบทั้งเล่ม เพราะฉะนั้นคงไม่ไหว แต่ขอพูดถึงความดีของพีต้าที่ส่งผลต่อการกระทำของแคทนิสฉากหนึ่ง ในเกมส์ครั้งที่สอง แคทนิสกร้าวขึ้นเยอะ ไอ้ที่ไม่เคยอยากฆ่าใครในเล่มแรกก็เปลี่ยนไป ตอนที่แคทนิสยืนจ้องคุมเชิงกับฟินนิคนั่น แสดงชัดๆ ว่าแคทนิสเริ่มสูญเสียจิตวิญญาณ แต่เพราะพีต้าจงใจเดินเข้าไปขวางระหว่างกลาง ก็เลยแก้สถานการณ์ได้ ถ้าไม่มีพีต้าเป็นกาวเชื่อม แคทนิสคงไม่เอาใครทั้งสิ้น เล่มนี้ SC อาจจงใจบิลท์พีต้ามากๆ เพื่อลงท้ายเล่มอย่างนั้น

เล่มจบ Mockingjay ความสัมพันธ์ของพีต้ากับแคทนิสเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีพีต้าผู้แสนดีที่คอยบูชาพื้นดินที่แคทนิสเดินอีกแล้ว "เธอก็ไม่เห็นจะสวยเท่าไหร่เลยนี่" "ฉันคงเคยรักเธอมากเลยสินะ" ตอนที่พีต้าส่งสายตาเย็นชาวาจาเชือดเฉือนใส่แคทนิสประมาณว่า "เธอนี่มันก็ตัวแม่นะ" แคทนิสปึงปังออกไปแล้วนั่งสลดว่า ที่ผ่านมาใช้ความรักของพีต้าเป็นเครื่องมือค้ำจุนให้ตัวเองรู้สึกดีมานานแค่ไหน เพิ่งมาเห็นคุณค่าตอนที่สูญเสียเขาไป เรื่องราวความรักใน MJ มันเพิ่มระดับความซับซ้อนขึ้นมากเลย สมจริงดี เรื่องดาร์คมากทั้งเล่ม ตอนอ่านได้ครึ่งเล่ม เราไม่ชอบการกระทำของแคทนิสที่ดึงดันจะบุกไปหาสโนว์ ทำให้พวกพ้องตาย ช่วงนั้นแคทนิสเข้าด้านมืดตามเกล แล้วตอนนั้นก็ไม่มีใจใฝ่ดีของพีต้าคอยยับยั้ง แต่พีต้าก็ค่อยๆ เรียกตัวตนของเขากลับมา The Boy with the Bread กับ The Girl on Fire ทั้งสองต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยกัน แคทนิสไม่ยอมปล่อยให้พีต้าตาย พีต้าก็ไม่ยอมให้แคทนิสฆ่าตัวตายเหมือนกัน แม้ใน Epilogue ที่ออกแนวเศร้า สิ่งที่ทำให้อุ่นใจก็คือตรงนี้ "Peeta says it will be okay. We have each other."

จนป่านนี้ยังไม่ได้เอาเล่มนี้มาอ่านซ้ำเลยนะ คงต้องรอช่วงปลอดโปร่งมากๆ ถึงจะไหว ยังกลัวๆ อยู่ เพราะช่วงท้ายๆ ใกล้จบ ตอนฟินนิคตายเราเศร้าจนเปลี่ยนเป็นโกรธแคทนิส เคืองคนแต่งด้วยที่เหมือนลากบรรดาตัวละครไปตายแบบไร้เหตุผล ตอนพริมตายเรานึกไม่ออกว่าจะใช้คำไหนอธิบายความรู้สึกตัวเอง ไม่มีแม้แต่น้ำตา ตอนนั้นอ่านแบบมึนชาไปหมด เออ ไม่รู้จะคิดอะไร จะจบยังไงก็จบ เชียร์อะไรลุ้นอะไรไม่ไหวแล้ว จนพีต้าปรากฏตัวขึ้น เหมือนแสงส่องเลย

มีคนเกลียด MJ ด้วยเหตุผลว่าเราจะสูญเสียตัวละครที่เคยรักทุกคนจาก HG และ CF ไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งเป็นความจริง แต่เราว่าพีต้าเป็นคนเดียวที่เราได้เขากลับมา ไม่ดีดังเดิมแต่ก็ได้กลับมา คนเดียวที่ทำได้อย่างที่ตั้งใจว่าจะไม่ยอมสูญเสียตนเองเพราะแคปิตอล การที่พีต้ากลับมาช่วยให้พ้นจากความเสี่ยงที่เราอาจจะกลับกลายเป็นเกลียดเรื่องนี้มากๆ ไปได้ ถึงจะผ่านเรื่องเลวร้ายมาทุกสิ่งทุกอย่าง ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจให้ความรัก แต่คำถามของพีต้าครั้งสุดท้ายนั่น เมื่อแคทนิสตอบว่า Real แม้จะมีข้อสงสัยบ้างว่า คำตอบของแคทนิสเกิดจากเหตุการณ์พาไปเพราะไม่เหลือใครแล้วมั้ย แต่เมื่อนั่งคิดจริงๆ เราก็ตัดสินใจเชื่อว่านั่นมาจากใจจริง เพราะสิ่งที่แคทนิสบอกว่า พีต้าคือดอกแดนดีไลอ้อนที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ บ่งบอกว่าชีวิตยังมีหวัง

SC ไม่เคยอธิบายที่มาของชื่อพีต้า แต่ถ้าลองค้นดู pita คือขนมปังชนิดแรกของโลก และมีสมญาว่า the bread of life ในครั้งแรกพีต้ามอบขนมปังต่อชีวิตให้แคทนิส ในครั้งที่สอง เมื่อแคทนิสเห็นดอกแดนดีไลอ้อน ที่ภาษาดอกไม้แปลว่า ความรัก ความซื่อสัตย์ภักดี และหนึ่งในความหมายของแดนดีไลอ้อนก็คือการมีความรักตอบ อาจจะทึกทักไปเอง แต่เราก็เลือกที่จะเชื่อว่า SC รู้ในใจมาตลอดว่า คนที่แคทนิสรักเป็นใคร

********************

Suzanne Collins เน้นเขียนเรื่องสงคราม ไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องรักสามเส้า แต่เป็นบรรณาธิการต่างหากที่บอกให้เพิ่มเรื่องรักเข้าไป เห็นมีคำสัมภาษณ์ บก. Kate Egan บนเว็บเป็นหลักฐานยืนยัน ซึ่ง SC ก็ยอมใส่เรื่องรักเข้ามาในเรื่อง เหมือนที่แคทนิสทำเพราะรู้ว่าคนดูจะชอบ ตอนที่แคทนิสอยู่ในเกมส์ ในหัวคิดถึงคนดูตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตอนเขียน SC ก็คงนึกเอาใจคนอ่านด้วย จะเพิ่มบทหนุ่มอีกคนให้คนอ่านลุ้นมากขึ้นก็ไม่เห็นเป็นไร แต่จริงๆ เราว่าคนที่เป็นทีมเกลนี่เลือกผิดมากเลย เพราะ SC คงไม่เคยคิดให้เกลคู่แคทนิสเลยสักนิด ถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องเกรเกอร์นะ แม้เรื่องจะคนละแนว แต่เราจะเห็นแพทเทิร์นของตัวละครสองเรื่องนี้ แคทนิสเป็นตัวเอกเหมือนเกรเกอร์ แต่ท่าทีของแคทนิสที่มีต่อพีต้า ก็เหมือนลุกซาที่เป็นเจ้าหญิงเริดเชิดใส่เกรเกอร์ พีต้าหายไปเหมือนที่ลุกซาหายไป แคทนิสกับพีต้าคือส่วนผสมจากเกรเกอร์กับลุกซาปนๆ แล้วสลับกัน ส่วนอีตาเกลก็เฮนรี่นั่นแหละ เป็นลูกพี่ลูกน้องอยู่ใน cousin-zone ส่วนเฮย์มิตช์ตอนไม่เมาไม่อ้วกก็ริปเร้ดเลย ฟินนิคก็เหมือนแฮมเน็ต

ฮังเกอร์เกมส์ไม่ใช่เรื่องรัก แต่เป็นเรื่องที่มีความรักเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แก่นหลักจริงๆ ของฮังเกอร์เกมส์คือการวิจารณ์สังคม ความจริงเรื่องที่ใช้ฉากดิสโทเปียเกือบทั้งหมดก็คือการวิพากษ์สังคมปัจจุบันที่คนเขียนประสบอยู่แล้วก็ใส่ความเกินจริงสุดโต่งเข้าไปเพื่อขับเน้น คือ วิธีนี้ก็ไม่ได้ออริจินอล ถ้าดูตามรายชื่อหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็กของ SC ซึ่งในนั้นเราเคยอ่านแค่ Lord of the Flies กับ 1984 ก็เห็นชัดว่า Hunger Games ได้รับอิทธิพลจากสองเรื่องนั้นมาเยอะ แต่ในฮังเกอร์เกมส์ก็จะเป็นปัญหาสังคมปัจจุบันมากกว่า ทำไมเรื่องนี้ถึงชื่อฮังเกอร์เกมส์ การมีกินคืออำนาจและความร่ำรวย ในเรื่องไม่พูดถึงระบบเงินตรา แต่จะใช้สัญลักษณ์เป็นอาหารแทนตลอด นึกถึงคำนี้เลยนะ มีกิน มีอันจะกิน เมื่อไหร่กันนะที่คำนี้ไม่ได้หมายความว่ามีอาหารกินเฉยๆ และเมื่อไหร่ที่คำนี้อาจจะกลับไปหมายความตรงตัวอีกทีถ้าโลกถึงกลียุคขึ้นมาจริง ผู้แต่งเปิดประเด็นไว้ค่อนข้างกว้าง ทั้งเรื่องการแบ่งชนชั้น การเสียดสีรีอัลลิตี้โชว์ บริโภคนิยม การละเลยไม่สนใจปัญหาความอดอยากไม่มีกินและการสู้รบในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรไม่เท่าเทียม การปกครองแบบรวมศูนย์ อำนาจของรัฐที่มีเหนือปัจเจก จนไล่ไปถึงใน Mockingjay ก็จะเน้นเรื่องสงคราม

เพราะประเด็นมันกว้าง ไม่ได้เขียนวิจารณ์ตรงๆ อารมณ์เหมือนดูข่าวแล้วเบื่อหน่ายสภาพพวกนั้นมากกว่า ก็สะท้อนออกมา ตามที่ Suzanne Collins บอกว่าจุดเริ่มไอเดียเรื่องนี้เกิดจากดูโทรทัศน์สลับช่องระหว่างรีอัลลิตี้โชว์ (Survivor) กับข่าวสงครามอิรัก คนที่ได้อ่านก็คงเข้าใจชัดเจนตามนั้น สรุปเรื่องราวใน HG หนึ่งคือรายการโชว์ สองคือการต่อสู้ สามคือการเปรียบเทียบความแตกต่างเหลื่อมล้ำของสองสิ่งนี้ แต่เพราะในเรื่องแคทนิสมัวแต่ต้องวิ่งวุ่นเอาตัวรอด ไม่ค่อยมีโอกาสมานั่งถกปรัชญาพวกนี้ในเรื่อง ทำให้อาจมองข้ามประเด็นพวกนี้ไปได้ แต่ถ้าใช้เวลานึกบ้าง แม้แต่เด็กยังได้ข้อคิดจากเรื่องนี้เลย เคยอ่านความเห็นของเด็กมัธยมต้นแฟนฮังเกอร์เกมส์ที่โพสต์บนเว็บ เขาบอกว่า เขามองสหรัฐอเมริกาประเทศของเขาเองเป็นแคปิตอล ที่ทำตัวเลวร้ายไปดูดทรัพยากรประเทศอื่นๆ เข้าตัวเอง (ถ้าเทียบแบบนี้ ประเทศไทยจะเป็นเขตไหน อาจจะประมาณเขต 8 มั้ย?)

สำหรับเรา นึกถึงสิ่งที่เคยอ่านจากหนังสือชื่อ "เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพ" โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร (เทียบไกลไปมั้ย แต่นึกถึงเล่มนั้นจริงๆ นะ เป็นหนังสือเชิงวิชาการที่อ่านสนุกมาก) แค่สัก 100-200 ปีก่อน คนไทยเวลาไม่พอใจรัฐ ไม่อยากถูกเกณฑ์แรงงาน ก็หนีไปทำไร่ไถนาไกลๆ หน่อยก็ได้แล้ว แต่ปัจจุบันทำอย่างนั้นได้ซะที่ไหน พวกเราสมัยนี้มีสถานะเป็นแค่พลเมืองของรัฐโดยสมบูรณ์ ระบบเศรษฐกิจ/สังคม/ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ปัจเจกและชุมชนพึ่งพาตนเองไม่ได้อีกต่อไป ไม่ได้อยากกลับไปอยู่อดีต เพราะชีวิตคนปัจจุบันสุขสบายดีกว่า แต่บางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองช่างอ่อนแอไร้อำนาจไร้สิทธิ์เสียงไร้ตัวตน อาจเป็นเพราะอ่านเรื่องชุดนี้ในปีที่การเมืองไทยย่ำแย่มาก พวกคนที่นั่งหน้าจอเชียร์ให้ฆ่าคนกลางกรุงก็มีจริง ตอนอ่าน Mockingjay ที่เป็นเรื่องสงครามกลางเมืองเลยบาดความรู้สึก จะว่าไปความสำเร็จของเรื่องฮังเกอร์เกมส์ที่แท้จริงอาจจะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนอ่านอ่านแล้วนึกย้อนเปรียบเทียบพิจารณากับเรื่องราวรอบๆ ตัว

ธีมสำคัญอีกอันหนึ่งในเรื่องชุดนี้คือสื่อโทรทัศน์ ตอนที่อ่านประวัติ Suzanne Collins ไม่แปลกใจสักนิดเลยที่รู้ว่าเธอทำงานเขียนบทโทรทัศน์มาก่อน เพราะเรื่อง HG ถูกเขียนขึ้นอย่างที่คนที่ทำงานด้านสื่อทีวีมาเท่านั้นจะเขียนได้ (เราเคยนึกอย่างนี้กับ The Truman Show เป็นหนังที่ปลื้มมากเรื่องหนึ่ง) เรื่อง HG เกิดมาในช่วงเวลาที่กระแสรีอัลลิตี้โชว์ดังมาก แต่ก่อนก็เคยตามดูเหมือนกัน แต่พอถึงจุดหนึ่ง เช่นตอนที่ดู Temptation Island ที่ให้แลกคู่เดทกันว่าคู่รักจะนอกใจหรือไม่ มันก็ต้องเริ่มบ่นมั่งล่ะว่า เสื่อมว่ะ ไหนจะ Playing It Straight ที่ให้แมนกับเกย์มารุมจีบสาว วัดว่าผู้หญิงจะแยกออกหรือเปล่า โคตรบ้าเลย (ปากก็ด่าอยู่หรอกแต่ก็อุตส่าห์ดูจนจบซีซัน) แต่เดี๋ยวนี้ไม่เอาแล้ว AF ก็เลิกดูจะได้ไม่เผลอโหวต ตามดูไฮไลต์หลินปิงแค่สักเดือนเดียวเท่านั้นเองนะ

การที่ฮังเกอร์เกมส์ถูกนำเสนอในรูปแบบรายการโทรทัศน์ เป็นการตั้งคำถามถึงคนว่า เราเริ่มจะเกินเลยไปหรือเปล่ากับสิ่งที่นำมาเป็นความบันเทิง และถามถึงอิทธิพลและบทบาทของสื่อที่ทำให้เราชินชาไม่รู้สึกรู้สมกับอะไรหลายๆ อย่าง แต่เป็นการถามแบบนิ่มๆ เหมือนเป็นการตั้งข้อสังเกตต่อสังคม มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกจัดอยู่ในหมวดนิยาย YA แต่ผู้แต่งก็ไม่ได้ดูถูกเด็กๆ ที่อ่าน ด้วยการเทศนาสั่งสอน แค่กระตุ้นให้คิด แล้วปล่อยให้คนที่คิดได้ส่ายหน้ากับความเหลวไหลไร้สาระของตัวเอง เรื่องท่าทีและน้ำเสียงในการนำเสนอสารที่ต้องการสื่อนั้น นำไปสู่สิ่งที่เราคิดว่า นิยายแตกต่างจากหนังมาก


วันที่เราเดินออกจากโรงหลังดูหนังจบ เราแทบอยากจะล่าหัวใครสักคน เราไม่เข้าใจ ไม่อยากเชื่อว่า หนัง Hunger Games ออกมาไม่สนุกได้ยังไง ในกรณีของ Harry Potter กับ Twilight เราเข้าใจว่ามันคงดัดแปลงเป็นหนังยาก แต่ HG ที่มีฉากแอกชั่นเต็มเลย ทำไมไม่ลุ้นไม่มันส์ เราต้องการคำตอบ กลับมาจึงไปนั่งไล่อ่านคำสัมภาษณ์ของ Gary Ross อีกที ก็เจอเหตุผล เขาตั้งใจทำให้ตอนแข่งในเกมส์ไม่สนุก เพราะถ้าทำให้หนังดูแล้วบันเทิง พวกเราก็ไม่ต่างอะไรจากแคปิตอล ได้ฟังแบบนี้ เรารู้สึกเหมือนถูกตบหน้า เหมือนผู้กำกับดูถูกคนดูว่า ถ้าแกดูหนังสนุก เดี๋ยวแกจะไม่รู้ตัวว่า แกกำลังนั่งฟังฉันสั่งสอนแกอยู่นะ ตอนอ่านเจอประโยคนั้น อยากจะตะโกนว่า กูไม่โง่เว้ย

แม้จะมีประเด็นเนื้อหาที่เป็นสาระแฝงอยู่ในเรื่อง แต่วิธีการเขียนของ SC ไม่ได้ทำตัวสูงส่งอย่างนั้น เพราะในนิยายนี่มันคือบทโทรทัศน์ตอนๆ หลอกเด็กให้ติดชัดๆ เลย โยนอะไรเข้ามาให้อยากติดตามตลอดเรื่อง เล่นจังหวะการเล่า มีเร่งมีผ่อน ลากๆ แล้วจบบทแบบโปรดติดตามตอนต่อไป จบเล่มก็ค้างเรียกกระแสให้คนลุ้นเล่มต่อ เรื่องนี้ไม่ได้ขายความรุนแรง แต่ไม่ใช่ไม่ขายความบันเทิง เราไม่คิดว่าการที่ SC เขียนเรื่องให้สนุก จะเป็นการจงใจใช้ชั้นเชิงมาตบท้ายดูถูกคนอ่านที่รู้สึกสนุกกับเกมส์อีกที เพราะเธอตั้งใจเขียนให้เด็กอ่าน และเพราะ SC เขียนบทรายการเด็กมา ก็คงทำตามแนวที่ว่า การเรียนรู้ของเด็กต้องทำให้มันสนุก คนเราจดจำอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าเนื้อหา สาระใน HG ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องให้เวลาในการย่อย ความสนุกจะเป็นตัวจับคนอ่านให้ติด ดึงดูดให้รักตัวละคร แล้วหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ซึมซับรับสารที่ต้องการจะสื่อจริงๆ เข้าไปทีหลัง แต่เมื่อ Gary Ross คิดซะแบบนั้น เป็นการทำลายความสนุกของเรื่องไปโดยไม่จำเป็น การอ่านเรื่องเล่าของ Suzanne Collins กับการดูเรื่องเล่าของ Gary Ross ถึงให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันเลย คำพูดเดียวกัน น้ำเสียงคนพูดไม่เหมือนกัน อารมณ์คนฟังก็ต่างกันไกล

ไล่ย้อนไปดูจดหมายที่ Suzanne Collins เขียนถึงแฟนๆ อีกที เราจำใจความไม่ได้ จำได้แต่ว่าชมหนังทุกคำ อยากวิเคราะห์คำของผู้แต่งชัดๆ อีกที ถ้าในนั้นบอกว่า หนังออกมาตรงตามที่เธอจินตนาการไว้ เราคงว่า SC เปลี่ยนอาชีพไปเป็นนักการเมืองได้เลย แต่โอเค จากประโยคนี้ "I feel like the book and the film are individual yet complementary pieces that enhance one another. งั้นเป็นประมาณนักการทูตแล้วกัน หึ อ่านหนังสือแล้วอยากดูหนัง ดูหนังแล้วต้องวิ่งกลับมาอ่านหนังสือสินะถึงจะได้อรรถรสครบ

ถึงแม้ว่า The Hunger Games เวอร์ชันหนังจะไม่ใช่กะโหลกกะลา ตอนที่ดูรอบสอง หลังตัดความคาดหวังออกไป เราว่าหนังมันโอเคขึ้น และหนังก็ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ดีเยี่ยม แต่เราคนหนึ่งล่ะไม่เสียดายที่ Gary Ross ถอนตัวไม่กำกับภาคต่อ ถึงจะไม่ชอบเรื่องชุดที่เปลี่ยนตัวผู้กำกับเพราะเวลาเอามาดูต่อกันมันจะรู้สึกโดด แต่ยอมเสี่ยงกับผู้กำกับคนใหม่ดีกว่า

สิ่งที่อยากเห็นในหนัง Catching Fire ซึ่งเป็นเล่มที่เราชอบและคิดว่าสนุกที่สุด คือ ควรจะเน้นบทของพีต้าขึ้นมาได้แล้ว เกลด้วยอีกนิด บางครั้งเราก็นึกฉิว Twilight เหมือนกันที่ทำให้คำว่ารักสามเส้าเสียชื่อ จนเป็นเหตุให้ HG ต้องคอยเลี่ยงประเด็นนี้ไปด้วย HG มีเนื้อหาเยอะกว่าเรื่องความรักมากๆ จนถ้าบอกว่ามันเป็นเรื่องรักก็เหมือนดูถูกกัน แต่ถ้าไม่ใส่ใจประเด็นนี้เลย ก็ไม่ใช่อีก มีเรื่องพระเอกนางเอกรักกันในหนังนี่มันเสียหายตรงไหน ถ้า Titanic มีแต่เรือจม ไม่มีแจ็คกับโรส คงไม่ทำเงินถึง 2 พันล้านหรอก เป็นหน้าที่ของหนังที่จะต้องดัดแปลงจากหนังสือโดยยังให้องค์ประกอบเรื่องทั้งสาระทั้งแอกชั่นและความรักความสัมพันธ์ของตัวละครออกมาลงตัว

อีกอย่างที่อยากให้เน้นก็ในควอเตอร์เควล (ก่อนที่จะชื่อ Catching Fire เล่มสองของเรื่องนี้เคยมีชื่อว่า Quarter Quell) ฉากแอกชั่นในนั้นควรจะสนุกนะ ตอนภาคแรกเห็นเลยว่าผู้กำกับไม่ถนัดหนังแอกชั่น ภาพชุลมุนจลาจลเขต 11 ที่ดูดีหน่อยนั่นก็ฝีมือ Steven Soderbergh ต่างหาก และภาคแรกโปรดักชั่นยังดูไม่เนี้ยบหลายอย่างเลย หนังได้ตังค์ สตูดิโอก็ควรเพิ่มงบการสร้างภาคต่อให้ด้วย ฉากอารีน่าในภาคสองควรจะดูเทพๆ กว่าป่าธรรมดา แต่เราไม่อยากคาดหวังอะไรจากหนังเท่าไหร่แล้วล่ะ ครั้งหนึ่งเคยฝันเฟื่องไกลว่า อยากให้เรื่องชุดนี้ออกมาดีและสร้างโมเมนตัมไปเรื่อยๆ พอถึง Mockingjay ก็จบอย่างยิ่งใหญ่ได้ออสการ์แบบ LotR#3 เพราะเนื้อหาของ MJ นี่มีอะไรให้ทำได้เยอะมาก แต่ตอนนี้ไม่เพ้ออะไรแบบนั้นแล้ว เอาแค่ให้ออกมาไม่ผิดหวังแบบภาคแรกก็พอ แต่ก็ไม่รู้จะคาดหวังอะไรจากผู้กำกับภาคสองได้ไหม เราไม่คุ้นชื่อ Francis Lawrence ทั้งที่เคยดู I Am Legend กับ Constantine แต่ไม่ได้จำชื่อคนกำกับ คิดว่ามันไม่ใช่หนังที่โดดเด่น แต่เราก็ว่ามันดูสนุกใช้ได้นะ ภาพก็สวย ยังไงเอาใจช่วยแล้วกัน อย่างน้อยก็มีรากฐานที่ดีบางอย่างจากภาคแรก เช่น ทีมนักแสดงหลักที่แคสมาดี บทภาคสองก็เขียนโดยนักเขียนบทมือออสการ์ แต่ยังไงถ้าหนังออกมาไม่ได้เรื่องอีก เราก็รู้แล้วล่ะว่า เรายังย้อนกลับมาหาฉบับหนังสือ แล้วอ่านด้วยจินตนาการตัวเองได้เสมอ

4 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

บทวิเคราะห์ของคุณ Nas ลึกซึ้งมากเลยค่ะ ... เพิ่งรู้เลยว่าจริงๆ ไม่ได้กะจะเป็นนิยาย romance ซึ่งจริงๆดูจากสัดส่วนของเรื่องก็รู้ค่ะ แต่ไม่เคยคิดว่าผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจแต่แรกจริงๆ แต่ สนพ.แอบบังคับใส่มา ขอบคุณที่แชร์กันนะคะ

ส่วนตัวเราก็คิดว่า การอ่าน hunger games ทั้ง 3 เล่มได้อะไรเยอะมาก... แต่เราย่อยไม่ทัน ย่อยไม่หมด เพราะอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆมันพลุ่งพล่านมากๆ คงต้องกลับมาอ่านรอบ 2 ซ้ำ หรืออีกหลายๆรอบ

จุดที่เราเคยคิดขึ้นมาเหมือนกันระหว่างอ่านที่เราสงสัยมาก ว่าทำไมแคตนิส ถึงรู้อะไรหลายๆอย่างมากขนา่ดนี้ล่ะ เรื่องบางอย่างที่จุดประเด็นว่าการพูดถึงในบทสนทนาถือเป็นเรื่องอันตรายและต้องห้าม แค่ตอนพูดจาประชดแคปคิตอลเปรยๆในป่าคนเดียว แคตนิสยังต้องเหลี้ยวหลัง แต่แคตนิสกลับรู้ได้ เพราะอะไร? (เช่นเรื่อง แทรคเกอร์ แจคเกอร์ ในสงคราม หรือ มอคกิ้งเจย์ ฯลฯ ) ในโรงเรียนก็ไม่ได้สอน หรืออาจจะสอนเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลสั่งมาให้สอน อันนี้คือจุดนึงที่ดึงเราไว้ว่าบางอย่างผู้แต่งก็จงใจจนเกินไป (ซึ่งจริงๆจะไปว่าก็ไม่ได้ ทั้งเรื่องก็็พล็อตมาอย่างจงใจทั้งนั้นแหละ อิอิ) จงใจจนลืมที่จะอธิบายที่มาที่ไปในบางอย่าง


ส่วนเรื่องของหนังภาคต่อ.... เราเองก็หนักใจค่ะ ว่าถ้าไม่รุ่งก็ดับ แม้ว่าจะมีแฟนๆของหนังสือช่วย support ให้รายได้ใน box office ทั่วโลกพยุงหนังอยู่ แต่เครดิตของผกก. ก็ก้ำกึ่ง หนังตลาดทั้ง 2 เรื่องในเครดิตของ ผกก. มีทั้งส่วนประกอบที่เราชอบและไม่ชอบ เรานึกถึงออกแค่คำแรกเลยว่า "อาร์ต ภาพสวย" แต่อารมณ์ร่วมของหนังไม่สุด ฉากแอ็คชั่นเฉยๆ


อย่างไรก็ดี ได้แต่เอาใจช่วยให้หนังออกมาดี สร้างความประทับใจให้คนสนใจมาอ่านนิยายมากขึ้น เราว่าหนังสือชุดเรื่องนี้ จะอยู่ไปอีกนาน ตอนนี้ขึ้นหิ้งหนังสือในตำนานไปแล้ว(สำหรับเรานะคะ) ใกล้เีคียง LOTR, HP เพราะธีมของเรื่องมัน timeless จุดประกายให้คิดต่อได้อีกไกลมาก


หายใจเข้าหายออกเป็นพีต้าค่ะตอนนี้ อิอิ

Nas กล่าวว่า...

ขอโทษที่ตอบช้านะคะ แต่เพิ่งเห็นข้อความเต็มๆ คือปรกติเราเข้าบล็อกด้านแอดมินน่ะค่ะ เห็น comment แค่ช่วงต้นๆ ไม่รู้ว่ามีต่อ

คือจากที่อ่านในข่าวนะคะ ไม่เชิงว่าสำนักพิมพ์บังคับเรื่องรักสามเส้าหรอกค่ะ แค่ บก. เขาแนะนำ เพราะถ้าคนแต่งไม่เอาด้วยก็ต้องตามใจคนแต่ง อย่างที่พริมตาย ในบทสัมภาษณ์ บก. เล่าว่า อ่านต้นฉบับถึงตอนนั้นรีบโทรไปบอกว่า ได้โปรดอย่าทำเลย อย่าฆ่าเด็ก แต่ผู้เขียนไม่ยอมแก้ บอกว่า ไม่ได้ ในสงครามต้องมีผู้สูญเสีย พริมถูกใช้เป็นเครื่องสังเวยให้เรื่องนี้ ที่ผู้แต่งใช้เป็นบทเรียนสอนว่า สงครามส่งผลร้ายยังไงถึงทุกคนไม่ใช่เฉพาะคนที่เข้าสู้แต่รวมทั้งผู้บริสุทธ์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย

เราว่าหนังภาคสองคงทำรายได้ไม่สูงเท่าภาคแรก แต่ยังไงก็รอลุ้นค่ะ อยากดู เรื่อง HG นี่มีเสน่ห์ดึงให้เราอินกับมันได้เยอะจริงๆ เลยนะคะ พูดถึงได้ไม่เบื่อ

Unknown กล่าวว่า...

สุดยอดเลยค่ะ ละเอียดและลึกซึ้งมาก

Unknown กล่าวว่า...

คิดเหมือนกันเลยค่ะตอนที่พีต้าถามแคทนิสว่าเธอรักฉันจริงหรือไม่จริง แคตนิส ตอบว่า จริง แต่เราก็สงสัยนะ แต่ก็ไม่แปลกหรอกที่คนเราจะเลือกใครที่ทำให้เราอยู่รอด มีชีวิตรอดและมีความสุข เพราะความรักระหว่างคู่รักก็คือการที่เรามีความสุขที่ได้อยู่กับคุณ ไม่ใช่การเห็นคุณมีความสุขทั้งที่ไม่ได้อยู่กับเรา แคตนิสนั้นเป็นตัวละครที่สะท้อนความจริงค่อนข้างมาก ส่วนพีต้านั้นแทบหาได้ยากในชีวิตจริง และเราก็ว่าไม่แปลกนะที่แคทนิสจะไม่อยากเสียทั้งพีต้าและก็เกลไป ถึงเราจะมองว่าเกลคือเพื่อน แคตนิสคือคนรัก แต่ทั้งสองคนก็เติมเต็มให้แคทนิส จากที่อ่านน้อยมากที่จะทำให้เราสงสัยว่าแคทนิสรักเกลมั้ย ในขณะที่กับพีต้าเราสงสัยตลอดเรื่องเลยว่าเธอรักพีต้ามั้ยจากการที่หนังสือสื่อให้เราคิด และแอบลุ้นตลอดด้วยว่าพีต้าจะตายมั้ย แต่เราก็คิดเหมือ จขบ. นะว่าซูซานส์ เองก็รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าแคทนิสรักใคร และเกลเองก็คงมองเหมือนคนอื่นว่าแคทนิสรักพีต้า บวกกับเรื่องของพริมเลยทำให้เขาเลือกที่จะถอยห่างไป ในตอนท้ายนางเองยังบอกเลยว่าเหมือนเธอรออะไรบางอย่าง แต่ก็อย่างว่าแหละถ้ามันจบแบบไม่มีอะไรให้คิดสักหน่อยเราก็จะลืมมัน แต่จบแบบนี้ทำให้เราคิดถึงมันไปตลอด

แสดงความคิดเห็น