วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

Troy Trilogy - David Gemmell

คะแนน : 8



เจอหนังสือที่อ่านจบด้วยความรู้สึก mix feeling อีกแล้ว เราหยิบหนังสือชุดนี้มาอ่านเพราะเราชอบเรื่องเกี่ยวกับสงครามกรุงทรอย เราคาดหวังว่า จะได้อ่านเรื่องราวตามตำนานที่มีรายละเอียดลึกขึ้น แต่เราไม่คาดว่า เนื้อเรื่องจะแตกต่างจากเรื่องราวในมหากาพย์ที่เราคุ้นเคยขนาดนี้ มีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง บางอย่างเราคิดว่าดี แต่บางอย่างเราก็ทำใจรับไม่ได้เลย

พูดถึงจุดที่เราชอบก่อนแล้วกัน หนังสือชุดนี้ดึงเราเข้าสู่โลกของกรีกและทรอยยุคโบราณได้ดีมาก ตั้งแต่เริ่มต้นเล่มแรก คือ Lord of the Silver Bow อ่านแล้วเห็นภาพสมัยโบราณชัดเจนดีเยี่ยม การเดินทางบนเรือ ผ่านทะเล ผ่านเกาะแก่งต่างๆ นครโบราณ วิถีชีวิตผู้คน สังคม วัฒนธรรม ความนึกคิด ความเชื่อ การนับถือเทพเจ้า ตามมหากาพย์ของโฮเมอร์นั้น มีเหล่าเทพเจ้าเข้ามาปรากฏตัวเต็มไปหมด โชคลาง อภินิหาร การบูชายัญ แต่ใน Troy Trilogy จะตัดเรื่องเทพเจ้าและอภินิหารเกือบทั้งหมด แล้วอธิบายสิ่งที่สมจริงและน่าจะเป็นที่มาที่สมเหตุสมผลของตำนานอันยิ่งใหญ่แทน

การเปลี่ยนแปลงที่เกือบจะเรียกว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือจากตำนานต้นกำเนิดอยู่ที่บทบาทของตัวละคร ใน Troy เวอร์ชั่นนี้ เฮเลนเป็นเพียงตัวละครประกอบ เธอไม่สวย ไม่ได้มีความงามเลื่องลือ การแย่งตัวเธอเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าเพื่อก่อสงคราม ที่มีสาเหตุแท้จริงเกิดจากความมักใหญ่ใฝ่สูงและการแก่งแย่งหาผลประโยชน์ของเหล่ากษัตริย์ต่างหาก อกาเมมนอน ผู้นำฝ่ายกรีกได้รับแจกบทตัวร้ายของเรื่องเต็มตัว ชั่วร้ายเลวทรามไม่มีที่เปรียบ เพรียม ราชากรุงทรอยกลายเป็นไอ้แก่โสโครกไร้ศีลธรรม อะคิลลีส แม่ทัพกรีก ซึ่งตามปรกติจะเป็นตัวเอกของเรื่อง ก็ถูกลดบทบาทลงไปเป็นตัวละครรองธรรมดา มีเพียงโอดิสซีอุส ที่เราคิดว่า ถ่ายทอดบทบาทมาจากต้นฉบับได้ดีที่สุด

เตือนสปอยล์

ตัวละครเอกฝ่ายชาย Troy เวอร์ชั่นนี้ คือ เฮลิคาออน หรือเจ้าชายอีเนียส ซึ่งเป็นเพียงตัวละครที่ไม่สำคัญนักใน Iliad ของโฮเมอร์ แต่เป็นตัวเอกใน Aeneid ของเวอร์จิล และฝ่ายหญิง ผู้แต่ง David Gemmell หยิบ แอนโดรมาคี ซึ่งแทบจะไม่มีบทบาทใดในเรื่องของโฮเมอร์มาเป็นนางเอก ซึ่งนั่นนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเรา เพราะแอนโดรมาคีนั้นในบทดั้งเดิม นางเป็นภรรยาของเฮกเตอร์ เจ้าชายแม่ทัพเอกฝ่ายทรอย ซึ่งเป็นตัวละครที่เราชอบที่สุดในตำนานเรื่องทรอย เพราะฉะนั้น เมื่อ Troy เวอร์ชั่นนี้เลือกตัวละครสองคนนี้มาคู่กัน พระเอกนางเอกก็ต้องอยู่ในฐานะชู้ จึงเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้เลย ภาพของเฮกเตอร์ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่สมบูรณ์แบบที่สุดในความคิดเรา (โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงบทเฮกเตอร์ของ Eric Bana ในหนังเรื่อง Troy) ถูกทำลายย่อยยับใน Troy เวอร์ชั่นนี้ เฮกเตอร์กลายเป็นผู้ชายที่น่าสมเพช เสียความเป็นชาย ถูกเมียสวมเขา ต้องเลี้ยงลูกชู้ ด้วยความหวานอมขมกลืน ช่างน่าอนาถอะไรอย่างนี้

เรารู้สึกว่า ถ้านางเอกของเรื่องเป็นคนอื่นไปซะ ตัวละครใหม่ก็ได้ แล้วมาดำเนินเรื่องแทน โดยมีบุคลิกลักษณะนิสัยอย่างแอนโดรมาคีในเรื่องนี้ เราคงจะชอบหนังสือชุดนี้กว่านี้มาก บทบาทนางเอกในเรื่องนี้มีส่วนสำคัญกับการดำเนินเรื่องมาก จากเล่มหนึ่งที่เปิดตัวเจ้าหญิงที่ถูกส่งตัวไปแต่งงานการเมือง เล่มสองใน Shield of Thunder เธอมีพัฒนาการทางตัวละครที่ดี อย่างการให้ยาพิษ และการตัดสินใจของเธอที่ทำเพื่อปกป้องลูก เราก็ยังชอบเธอ แต่พอเล่มสาม Fall of Kings นี่เรารู้สึกว่า บทของเธอลงเหวเลย ทำไมเลว และเห็นแก่ตัวอย่างนี้ โดยเฉพาะตอนหลังจากเฮกเตอร์หลุดถ้อยคำเรื่องลูกขึ้นมา แล้วเธอมานึกว่า เฮกเตอร์รับข้อเสียของพ่อมา เรารู้สึกเกลียดผู้หญิงคนนี้จับใจ แทนที่จะนึกว่าเป็นความผิดของตัวเอง กลับไปโทษคนที่ตัวเองทำผิดต่อเขาอีก และโดยเฉพาะตอนที่เธอมองเฮกเตอร์ แล้วรู้ว่า เฮกเตอร์คิดว่าเธออยากให้เขาตาย เพื่อปลดปล่อยเธอให้ไปอยู่กับเฮลิคาออน แต่เธอก็ไม่รู้จะพูดกับเฮกเตอร์ยังไง เราเกลียดเธอสุดๆ และอนาถใจเฮกเตอร์ไปพร้อมๆ กัน ผู้ชายโง่ๆ ที่หลงรักผู้หญิงเลวๆ ไม่มีคุณค่าพอให้เราชื่นชม

แต่ถ้าถามว่า ถ้าไม่ใช่แอนโดรมาคี แล้วควรจะให้ใครมาเป็นนางเอกแทน ก็ตอบไม่ได้แฮะ น่าเห็นใจผู้แต่ง เพราะบทผู้หญิงใน Iliad มีตัวเลือกให้ไม่มาก การที่บทของนางเอกในเล่มสองกับเล่มสาม สร้างความรู้สึกแตกต่างให้เราขนาดนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ ผู้แต่ง David Gemmell เสียชีวิตไปก่อนหลังจากแต่งเล่มสามได้แค่ครึ่งเล่ม แล้วภรรยาของเขาแต่งต่อให้จบแทนจาก outline ที่วางไว้หรือเปล่า

เราก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าเราไม่เอาเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของ Iliad หรือหนังเรื่อง Troy (ที่ Brad Pitt กับ Eric Bana แสดงนำ) เราจะคิดยังไงกับหนังสือชุดนี้ เพราะถ้าเราไม่อ่านไปเทียบไป เราก็จะไม่เห็นการอธิบายเนื้อเรื่องและความเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากต้นฉบับ ที่เรารู้สึกว่าเป็นความฉลาดแยบยลในการเล่าเรื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบ เราก็ทำใจรับกับความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่ได้เหมือนกัน สรุปว่า เราคิดว่า David Gemmell นั้น too ambitious ที่หาญกล้าหยิบมหากาพย์มาเล่าใหม่ในแบบของตัว แต่สุดท้ายก็อาจจะทำได้ไม่ดีพอ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

The Temporary Wife - Mary Balogh

คะแนน : 9


เคยอ่านเรื่องนี้มาสองสามปีแล้ว จนลืมนึกถึงไปเสียนาน พอมาเปิดรายชื่อเรื่องของ Mary Balogh ที่เราทำเป็นไฟล์เอาไว้ สำหรับจดว่าเรื่องไหนอ่านแล้ว เราให้คะแนนไว้เท่าไหร่ เรื่องไหนยังไม่อ่าน เพื่อดูว่าจะหยิบเรื่องไหนมาอ่านต่อดี ก็เจอว่าให้คะแนนเรื่องนี้ไว้ที่ 9 แต่จากชื่อเรื่องซึ่งค่อนข้างธรรมดา แล้วไม่ได้อยู่ในชุดใดๆ ทำให้เรานึกไม่ออกในทันทีทันใดว่า เนื้อเรื่องเป็นยังไง เป็นเหตุให้เราหยิบเรื่องนี้มาดูอีกที พอเปิดมาก็จำได้ แล้วเพียงแค่ไม่กี่หน้าที่อ่านไปเพื่อจะทวนความจำนั้น ก็ทำให้เราอดใจอ่านเล่มนี้ใหม่อีกรอบไม่ได้ พออ่านจบแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเราให้คะแนนเรื่องนี้ไว้ที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องของ Balogh ที่ได้คะแนนสูงสุดจากเรา และส่งให้ Balogh เป็นหนึ่งในนักเขียนคนโปรดของเราด้วย

ที่คะแนน 9 ทำให้ The Temporary Wife เป็น 1 ใน 20 นิยายโรแมนซ์ที่เราชอบมากที่สุด ถ้าพูดถึงในด้านของเนื้อเรื่องอาจไม่มีอะไรโดดเด่นหวือหวามาก เรื่องราวเริ่มต้นที่

คงไม่เป็นการดีแน่ ถ้าจะลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ลอนดอนเพื่อรับสมัครภรรยา ดังนั้น Marquess of Staunton บุตรชายคนโตและทายาทของ Duke of Withingsby จึงประกาศรับสมัครครูพี่เลี้ยงแทน

โดยเจตนาที่แท้จริงของ Marquess of Staunton หรือแอนโธนี พระเอกของเราคือ การหาผู้ที่จะมาเป็นภรรยาชั่วคราว เพื่อพากลับไปแสดงตัวที่บ้านของเขา เป็นการต่อต้านผู้บิดา ที่เรียกตัวเขากลับบ้าน ทั้งที่ตัดขาดจากกันมา 8 ปี ทั้งยังเตรียมหาคู่หมั้นไว้ให้เขาแล้ว ดังนั้น เขาจึงต้องการต่อต้านด้วยการแต่งงานกับผู้หญิงที่เขาเลือกเอง คุณสมบัติที่แอนโธนีตั้งไว้ในใจสำหรับภรรยาของเขาผู้นี้คือ เธอต้องเป็นสาวผู้ดี เพราะเขาจะไม่ยอมลดตัวต่ำกว่านั้น แต่เธอต้องเป็นสาวตกยาก หน้าตาจืด สงบเสงี่ยม ธรรมดาสามัญที่สุด หงิมๆ ได้ยิ่งดี สรุปว่า เธอต้องมีบุคลิกเหมือน หนูที่แอบอยู่เงียบๆ นั่นเอง เธอต้องเป็นผู้หญิงที่ดูไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดัชเชสในอนาคตที่สุด ยิ่งทำให้พ่อของเขาขัดใจที่สุดเท่าไหร่ได้ ก็ยิ่งจะสร้างความพอใจให้เขาเท่านั้น

หนึ่งในผู้ที่ตอบรับประกาศรับสมัครโฆษณาชิ้นนั้น คือ แชริตี้ ดันแคน เธอเป็นสาวผู้ดีตกยาก ที่พ่อทิ้งหนี้สินมากมายไว้ให้ ทั้งยังมีน้องๆ ที่ต้องดูแลอีกหลายคน แชริตี้จึงต้องมาทำงานเป็นครูพี่เลี้ยง แต่ด้วยความปากไวใจตรง จึงถูกนายจ้างเก่าไล่ออกเพราะไปช่วยปกป้องสาวใช้ที่ถูกลวนลาม ด้วยความอยากได้งาน แชริตี้ตั้งใจว่า ในการสัมภาษณ์งานครั้งนี้ (ซึ่งจะเป็นครั้งที่เจ็ด!) เธอจะต้องสงบปากสงบคำให้มากที่สุด แต่งตัวให้เรียบที่สุด ทำตัวเป็นหนูตัวเล็กๆ สีน้ำตาลทึมๆ มอๆ

ในการสัมภาษณ์ แอนโธนียื่นข้อเสนอการแต่งงาน เพื่อให้เธอไปปรากฏตัวที่บ้านประจำตระกูล เป็นระยะเวลาชั่วคราว 1-2 สัปดาห์ จากนั้น แม้จะต้องอยู่ในฐานะสามีภรรยาไปตลอดชีวิต แต่ทั้งสองก็จะแยกกันอยู่ โดยเธอจะได้รับเงินเลี้ยงดูทุกปี ได้บ้าน รถม้า คนรับใช้ มีความเป็นอยู่สุขสบายเป็นเอกเทศไปตลอด โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาเจอกันอีก คุณคงเดาคำตอบของเธอได้

เมื่อทั้งสองไปถึงเอนฟีลด์ ได้พบกับท่านดยุค บรรดาน้องชายและน้องสาว น้องสะใภ้ น้องเขย ของแอนโธนี กับการต้อนรับที่แสนเย็นชา ด้วยธรรมชาติของแชริตี้ เธอก็ไม่สามารถจะเป็นหนูที่อยู่เงียบๆ ได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงชั่วคราว แต่เธอก็จะไม่ปล่อยให้ครอบครัวที่ไร้สุขนี้ ดำเนินความเข้าใจผิดและมึนตึงต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้แน่ แล้วเธอก็เริ่มต้นประสานรอยร้าว เยียวยาความรู้สึก และเปิดใจของแอนโธนีให้คืนดีกับครอบครัว

เราไม่รู้ว่าจะอธิบายสิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไงดี แต่เรารู้สึกว่ามันลงตัวไปหมด เราชอบตัวละครทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง ในส่วนของแอนโธนีและแชริตี้ แม้แอนโธนีจะมีความคับข้องใจกับพ่อและน้องชาย แต่เขาก็ไม่ได้ทำตัวมืดมนหมองหม่นจนน่ารำคาญอย่างพระเอกบางเรื่อง จากการกระตุ้นของแชริตี้ ทำให้เขาเปิดตาเปิดใจให้คนรอบข้าง ค่อยๆ คลายความขมขื่นลงไป ส่วนแชริตี้ก็สมบูรณ์แบบกับบทบาทนางเอกในเรื่อง เธอเป็นผู้ที่มาขับเคลื่อนเรื่องราว เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของทุกคนในครอบครัวนี้ โดยเฉพาะแอนโธนี โดยที่ทุกอย่างที่เธอทำในเรื่อง ไม่มีอะไรที่เรารู้สึกว่า เป็นการกระทำที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปเลย เป็นบทนางเอกที่ perfect มาก อ่อนโยน มีน้ำใจ มีอารมณ์ขัน แต่ก็มีเหตุมีผล เจ้ากี้เจ้าการในบางครั้ง แต่ก็ไม่ถึงกับน่ารำคาญ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องอวดดีหรือเล่นตัวกับพระเอก

ในส่วนของตัวละครรองต่างๆ ก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน ท่านดยุคก็มีความลึกและเหตุผลของตนเอง น้องๆ ของพระเอกทั้งสี่คน ที่มีอายุ บุคลิกลักษณะแตกต่างกัน ต่างก็มีความสัมพันธ์กับพระเอกแตกต่างกันไปหลายๆ แบบ เป็นกลุ่มของตัวละครที่ทำให้เราชอบ และทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวร้ายของเรื่องเลย

ในขณะที่แชริตี้เริ่มชนะใจคนอื่นๆ ความสัมพันธ์ของตัวเอกทั้งสองก็ค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วย ในเนื้อเรื่องที่ดูเหมือนดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีอะไรนั้น กลับสอดแทรกไปด้วยฉากย่อยๆ และบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างตัวละคร ที่น่าประทับใจมากมาย เราชอบฉากที่พระเอกชมนางเอกแบบไม่เต็มใจว่า นางเอกหลอกลวงเขาที่ตอนแรกปิดบังไม่ยอมให้เขาเห็นว่าตัวเองสวย ชอบฉากที่พระเอกเล่าสาเหตุที่ออกจากบ้านให้น้องชายที่เป็นทหารฟัง ชอบฉากสุดท้ายระหว่างพระเอกกับพ่อ และชอบฉากที่พระเอกอุ้มน้องสาวคนเล็กนั่งตัก คำพูดง่ายๆ ของเด็กแปดขวบที่อยากให้แอนโธนีเป็นพ่อ แล้วบอกว่า แชริตี้จะเป็นเหมือนแม่ ต่อไปนี้เธอจะมีใครที่เป็นของเธอเองบ้างแล้ว ทำให้เราซึ้งมากมาย

นี่ล่ะ เรื่องที่เราจะอ่านซ้ำได้อีกเรื่อยๆ เรื่องที่ทำให้เราอ่านแล้วรู้สึกดี เรื่องแบบที่เป็นเหตุผลให้เราชอบอ่านนิยายโรแมนซ์

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

Something About You - Julie James

คะแนน : 8.5



เห็นเรื่องใหม่ของ Julie James ปุ๊บ ก็หยิบมาอ่านปั๊บ แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย เราว่า สนพ. เมืองไทยน่าจะเอาเรื่องของ Julie James มาแปลนะ คนอ่านน่าจะชอบ (หรือมีแล้วแต่เราอาจไม่รู้) โดยเฉพาะเรื่อง Just The Sexiest Man Alive ฉากพบกันครั้งแรกของพระเอก-นางเอก ที่นางเอกแสดงการซักพยานในศาลให้พระเอกดู เป็นฉากการพบกันที่น่าจดจำที่สุดจากการอ่านนิยายสไตล์ Romantic Comedy ของเรา

ขอย้อนกลับไปพูดถึง Something About You นะ นี่เป็นผลงานเล่มที่ 3 ของ Julie James นางเอกเป็นผู้ช่วยอัยการที่เป็นพยานเห็นฆาตกร (นางเอกของ JJ เป็นทนายทุกเรื่อง เพราะ JJ เป็นทนายที่เบนเข็มมาเอาดีทางเขียนนิยายด้วย) พระเอกเป็นเอฟบีไอที่เข้ามารับผิดชอบคดี พระเอกเป็นอริกับนางเอกเนื่องจากเหตุการณ์ในอดีตเมื่อสามปีก่อน แต่ด้วยความจำเป็นเพื่อความสำเร็จในคดีนี้ เขาจะไม่ยอมให้ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาทำลายหน้าที่การงานของเขาอีก

เหมือนพล็อตเรื่องจะน้ำเน่าเข้าสูตรใช่มั้ย แต่ไม่ใช่เลย พระเอก นางเอก ของ Julie James เป็นคนฉลาด นิสัยดี มีเหตุผล บทสนทนาที่ตลก น่ารัก และทันกัน ทำให้เรื่องราวของทั้งคู่มีเสน่ห์ และไม่มีเรื่องเข้าใจผิดสำคัญที่เกิดจากการกระทำโง่ๆ ของตัวละครเอกเลย เล่มนี้มีเพิ่มฉาก action เข้ามาหน่อย ทำให้มีสีสันมากขึ้นกว่าเล่มก่อนๆ สรุปเล่มนี้ ยังทำให้ Julie James เป็นนักเขียนในทำเนียบ ที่เราจะติดตามอ่านทุกเรื่องทันทีที่มีผลงานเรื่องใหม่ออกมาต่อไป

ป.ล. ตะกี๊ ลอง google ดู มีแปลแล้วจริงๆ ด้วยอ่ะ เรื่องของ Julie James มี ปิ๊งรักเทพบุตรสุดเซ็กซี่ Just The Sexiest Man Alive (คะแนน : 8.5) กับ ลุ้นรักคู่ปรับเสน่หา Practice Makes Perfect (คะแนน : 8)

Ravishing in Red & Provocative in Pearls - Madeline Hunter

Ravishing in Red
คะแนน : 8

เคยอ่าน By Arrangement ของ Madeline Hunter แล้วชอบ พอดีได้เรื่องนี้มาใหม่ ก็เลยเอามาอ่าน ดีเลยนะนี่ เป็นเรื่องเปิดตัวในชุด Rarest Blooms เพื่อนสาวสี่คนที่จะไม่ถามอดีตของกันและกัน เล่มแรกเป็นเรื่องของออเดรียนน่า สาวผู้ดีตกยาก เพราะพ่อฆ่าตัวตายเนื่องจากถูกเปิดโปงว่า ทำงานผิดพลาดจนทำให้ทหารอังกฤษตายมากมาย เธอแอบมาที่โรงแรมหนึ่งจากประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เพื่อสืบความบริสุทธิ์ให้พ่อ บังเอิญพบลอร์ดเซบาสเตียน ซัมเมอร์เฮยส์ ที่มาสืบเรื่องนี้เช่นกัน

ชอบๆ -- หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องตอกย้ำความรู้สึกของเราได้ดีว่า เราชอบเรื่องยุครีเจนซี่มากกว่ายุคกลาง วัดกันเห็นๆ จากนักเขียนคนเดียวกันนี่แหละ เพราะเราไม่ชอบเรื่องชุดในยุคกลางที่อ่านต่อจาก By Arrangement เลย (By Possession, By Design, Stealing Heaven) บรรยากาศรีเจนซี่มันไม่รันทดหดหู่ แล้วเราชอบนางเอกเวอร์จิ้นอ่ะ พระเอก-นางเอก นิสัยดี มีเหตุผล เนื้อเรื่องลงตัว ทำให้พออ่านเรื่องนี้จบก็เกิดอาการเซ็งเล็กๆ ที่ไปอ่านเรื่องชุดที่ยังออกมาไม่จบอีกแล้ว ไม่อยากรอเลย

Provocative in Pearls
คะแนน : 8

อ่าน Ravishing in Red จบ ก็หยิบเล่มที่สองในชุดมาอ่านต่อเนื่องเลย เรื่องของเกรย์สัน เอิร์ลแห่งฮอว์คสเวล ที่เจ้าสาวของเขาหนีการแต่งงานคลุมถุงชนหายไปเมื่อ 2 ปีก่อน จนวันหนึ่งเขาบังเอิญติดตามเพื่อน (เซบาสเตียน) ที่มารับภรรยา (ออเดรียนน่า) ที่บ้านสวนดอกไม้ เขาก็พบเวริตี้ เจ้าสาวของเขาที่หนีมาซ่อนตัวอยู่ที่นี่เข้าจนได้

อ่านจบแล้ว ก็ยิ่งทำให้อยากอ่านเล่มต่อไปอ่ะ เนื้อเรื่องเล่มนี้ก็ดี พระเอกนางเอกก็โอเคอีก แต่โอย ที่เราชอบมากๆ ในเล่มนี้ คือ บทของเพื่อนพระเอก คือ Duke of Castleford ตอนเล่มแรก ยังไม่ค่อยชอบเขาเท่าไหร่ โดยเฉพาะฉากที่อยู่บนเตียงกับผู้หญิงสองคน แต่เล่มนี้ Castleford ทำให้เราชอบเขามาก วันอื่นสำมะเลเทเมาเต็มที่ สร่างเมาเฉพาะวันอังคารเพื่อทำหน้าที่การงาน ไม่รู้ว่า พอหมอนี่มาเป็นพระเอกในเรื่องของตัวเองเต็มตัวแล้ว จะทำให้เราชอบเขาเท่านี้รึเปล่า

รวมรายชื่อเรื่องที่อ่านจบไปช่วงที่ผ่านมา

ค่อนปีมาแล้วหรือนี่ ที่เราทิ้งร้างบล็อกนี้ไป
กลับไปนับนิยายที่อ่านหลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ได้ 45 เรื่อง
แต่ไม่ได้เอามาเขียนบล็อกเลย

ขอเอารายชื่อหนังสือที่อ่านไปในช่วงหลังๆ กับความรู้สึกสั้นๆ
มาบันทึกไว้ก่อนแล้วกันนะ
มีบางเรื่องดี บางเรื่องที่เราชอบมาก
ถ้ามีเวลา แล้วมีอารมณ์อยากเขียนถึงก็จะมาเขียนอีก
เขียนไปเล่นๆ ให้ตัวเองอ่านนี่ล่ะ
ไม่ค่อยมีใครเข้ามาอ่านบล็อกเราหรอก
แค่บางเรื่องที่เราอ่านจบแล้ว มีความรู้สึกที่ติดอยู่ในจิตใจ
ได้บรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือ ก็รู้สึกดีแล้ว

Friday's Child - Georgette Heyer
คะแนน 7.5 น่ารักดี ได้ตามมาตรฐานที่เราคาดหวังจาก Heyer

Ice - Linda Howard
คะแนน 7 สั้นไปหน่อย เรื่องทั้งเล่มเกิดขึ้นในเวลาคืนเดียว แต่ก็ได้มาตรฐานของ Linda Howard เป็นนักเขียนที่เราเชื่อใจ ยังไม่เคยเจอเรื่องที่เรารู้สึกว่าแย่เลย มีแค่ชอบมาก ชอบน้อย แต่ตอนแรกเห็นจากชื่อ เรานึกว่าเรื่องนี้จะต่อเนื่องจากเรื่อง Burn เสียอีก เรื่องนั้นสนุกมาก

The Diaper Diaries - Abby Gaines
คะแนน 7.5 เรื่องโรแมนซ์แบบเล่มเล็กๆ เบาๆ อ่านสบายๆ ไม่คิดมาก เป็นงานชิ้นแรกที่เราอ่านของนักเขียนคนนี้ โอเคเลย

Venetia
- Georgette Heyer
คะแนน 6 ไม่ค่อยชอบนะ เราว่าพระเอกไม่มีอะไรดีเลย อดีตหนุ่มเสเพล อายุมากกว่านางเอกเยอะ ไม่หล่อ ไม่รวย อ่านแล้วสงสารนางเอกอ่ะ เราอดคิดไม่ได้ว่า สาเหตุที่นางเอกรักพระเอก คือ เพราะตามสถานการณ์ในเนื้อเรื่อง เธอไม่เคยมีโอกาสได้เจอคนอื่นๆ ที่ดีกว่านี้เลย ในชีวิตเธอ พระเอกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ให้นางเอกเลือก นอกจากการที่ไม่มีใคร มันทำให้เราไม่อินกับเรื่องเลย และสิ่งที่เราขัดใจก็ไอ้พวกเรื่องทำนองที่ว่า ฉันทำเรื่องทำร้ายจิตใจเธอไป ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเธอเอง คือมันก็ตามสูตรนิยายยุคเก่าอ่ะนะ แต่ไม่ชอบเลย อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้เราอยากกลับไปอ่าน Cotillion ซึ่งเป็นเรื่องของ Heyer ที่เราชอบที่สุด เพื่อปรับอารมณ์ผิดหวังเลย

The Groom Came Back - Abby Gaines
คะแนน 6.5 ติดใจจากเรื่อง The Diaper Diaries ก็เลยลองนักเขียนคนนี้อีกเรื่อง แต่เล่มนี้ไม่ค่อยเวิร์คแฮะ

Her So-Called Fiance - Abby Gaines
คะแนน 6.5 ให้โอกาสอีกที ก็ยังไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ สรุปว่าเป็น นักเขียน one shot สำหรับเราสินะ

A Matter of Class - Mary Balogh
คะแนน 7 เรื่องสั้นๆ จากนักเขียนคนโปรด แม้เนื้อเรื่องจะน้อยไปหน่อยแต่ก็โอเคเลย ฮ่าฮ่า เราก็เดาเรื่องได้หมดตั้งแต่แรกเหมือนกันนะ ไม่ถูกหลอกอ่ะ

Missing in Death - J.D. Robb
คะแนน 7 เป็นเรื่องสั้นรวมอยู่ในเล่มชื่อ Lost มั้ง ดีตามมาตรฐาน In Death

Simply Irresistible - Rachel Gibson
คะแนน 6.5 ธรรมดาเกินไป

Fantasy In Death - J.D. Robb
คะแนน 7.5 สนุกดี เล่มนี้การฆาตกรรมไม่ค่อยสะเทือนจิตใจด้วย หมายถึงเหยื่อไม่ถูกทำร้ายทารุณจิตใจมากเท่าไหร่ ก็เลยอ่านสบายๆ ไม่ต้องทำใจกับความมืดมนหดหู่นัก

Greek Tycoon, Inexperienced Mistress - Lynne Graham
คะแนน 6.5 ไม่มีอะไรอ่าน นานๆ ทีเอาเรื่องของเจ้าแม่น้ำเน่ามาอ่านบ้าง แบบไม่ต้องคิดมาก พักสมอง แต่ก็ยังไม่ค่อยชอบอ่ะ

Vision in White - Nora Roberts
คะแนน 7 เป็นเล่มเปิดชุด Bride Quartet โอเคเลยล่ะ

Bed of Roses - Nora Roberts
คะแนน 7 เราไม่ค่อยชอบเรื่องของพระเอก-นางเอก เล่มนี้นะ แต่เหตุที่คะแนนไม่ตก เพราะเราชอบฉากที่เพื่อนนางเอก Parker เจอคนที่จะเป็นพระเอกของเธอ ทำให้เราอยากอ่านเล่มสุดท้ายของชุดมากๆ โอย เล่ม 3 ใกล้แล้ว แต่เล่ม 4 กว่าจะออกก็ปลายปี 2010 เฮ้อ นี่ล่ะ ที่ทำให้เราไม่ค่อยอยากอ่านเรื่องชุดที่ยังออกมาไม่จบ

The Madness of Lord Ian Mackenzie - Jennifer Ashley
คะแนน 7 เลือกมาอ่านเพราะเห็นจากรีวิวที่ได้รับคำชื่นชมมาก เป็นเล่มแรกที่เราอ่านของนักเขียนคนนี้ ก็โอเคนะ แต่ไม่ทำให้เราติดใจขนาดอยากตามไปอ่านเรื่องอื่นๆ ของเธอด้วย